"รัฐบาลขอยืนยันว่ามาตรการจ่ายเงินชดเชย 2,520 บาทต่อไร่นั้นจะสามารถช่วยเหลือชาวสวนยางได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสวนหรือผู้รับจ้างกรีดยาง โดยรัฐบาลตั้งเป้าจ่ายเงินโดยตรงถึงเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายจำนวน 991,717 ราย ครอบคลุมพื้นที่สวนยางราว 8.97 ล้านไร่ และจะเร่งรัดกระบวนการจ่ายเงินให้ถึงมือเกษตรกรโดยเร็วที่สุด" ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่มีข่าวว่าชาวสวนยาง 18 จังหวัดยอมรับมติของคณะกรรมการนโยนบายธรรมชาติ(กนย.) และพอใจจำนวนเงินชดเชยของรัฐบาลนั้นถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ส่วนข้อเรียกร้องอื่นๆ นั้นเชื่อว่าจะมีการพูดคุยกันต่อไป เนื่องจากขณะนี้มีกลไกการพูดคุยทั้งในรูปของคณะกรรมการเฉพาะกิจและคณะกรรมการถาวร โดยเฉพาะการเพิ่มตัวแทนเกษตรกรเข้าร่วมเป็น กนย.จำนวน 2 คน จะทำให้เกษตรกรมีกลไกและมีช่องทางในการสื่อสารความต้องการของกลุ่มให้รัฐบาลได้ทราบ เพราะ กนย.เป็นองค์กรตามกฎหมายที่มีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลเสถียรภาพราคายางในภาพรวมของประเทศเพื่อนำเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว
"ขอให้เกษตรกรเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะไม่บิดพลิ้วในสิ่งที่ได้ประกาศไว้ เพราะมติคณะรัฐมนตรีนั้นถือเป็นกฎหมาย และมีความศักดิ์สิทธิ์เหนือกว่าการทำสัญญาข้อตกลงทั่วๆ ไป" ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างแน่นอน ส่วนเกษตรกรบางส่วนยังต้องการให้รัฐบาลแทรกแซงราคายางนั้น รัฐบาลขอเรียนว่า แม้การจ่ายชดเชยของรัฐบาลจะเป็นการให้เงินทั้งก้อนแก่เกษตรกร ไม่ใช่วิธีการแทรกแซงราคา แต่ก็ทำให้เกษตรกรได้รับเม็ดเงินในจำนวนที่เกษตรกรต้องการเหมือนกัน เพราะเงินชดเชย 2,520 บาทต่อไร่ เทียบเท่ากับ 12 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 91 บาท ต่อกิโลกรัม ณ ราคายางในตลาดที่ ก.ก.ละ 79 บาท
"รัฐบาลเชื่อว่ามาตรการระยะยาวในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยางของรัฐบาลจะสามารถช่วยยกระดับราคายางได้ในอนาคต การแทรกแซงหรือการประกันราคา ไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะอาจทำให้ราคายางในตลาดตกต่ำลง" ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งรัดกระบวนการจ่ายเงินให้ถึงมือเกษตรกรโดยเร็วที่สุด และหากยังมีประเด็นใดที่เกษตรกรมีความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาลก็ขอให้ใช้วิธีการพูดคุยเจรจาเพื่อหาทางออก จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ไม่ใช่การปิดถนนหรือเส้นทางคมนาคม เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อตัวผู้ชุมนุมเองและทำให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งยังเป็นการใช้เสรีภาพเกินขอบเขตของกฎหมาย
ในส่วนของเกษตรกรที่มีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมหารือเพื่อแก้ปัญหาแล้ว และขณะนี้ พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา ได้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของเกษตรกรแล้ว คือ 1.คณะอนุกรรมการฝ่ายคดีเกี่ยวกับปัญหายางพารา มี พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์การแก้ไชปัญหายางพารา มี นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และ 3.คณะอนุกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ในการใช้พื้นที่ปลูกยางพารา มี นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน