โดยมีมติ 354 ต่อ 14 งดออกเสียง 42 ผ่านความเห็นชอบมาตรา 10 โดยยืนตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก จากนั้นก็เดินหน้าพิจารณามาตรา 11 ว่าด้วยการให้ กกต.เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต่อรัฐสภา ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
รายงานข่าว แจ้งว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่มาของ ส.ว.วาระ 2 ช่วงเย็นที่ผ่านมาบรรยากาศการประชุมตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง หลัง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลใช้สิทธิ์ประท้วงขอให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมควบคุมการอภิปรายของ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.สรรหา ให้อยู่ในประเด็น โดยระหว่างการอภิปรายของนายธนา ชีรวนิช ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการลุกขึ้นประท้วงและเสนอขอปิดการอภิปรายของจ่าสิบตำรวจประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งนายสมศักดิ์วินิจฉัยว่าไม่สามารถใช้สิทธิเสนอญัตติปิดอภิปรายพร้อมกับการประท้วงได้ จากนั้นประธานการประชุมได้อนุญาตให้สมาชิกอภิปรายต่อ โดยสมาชิกที่ได้ขอสงวนคำแปรญัตติไว้อภิปรายไม่เห็นด้วย และขอตัดมาตรา 10 ออกไปให้หมด ท่ามกลางการประท้วงของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่ขอให้อภิปรายให้ตรงประเด็น
ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ยืนยันว่า กรรมาธิการฯ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และเปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 10 ที่ยังต้องคงสถานภาพของ ส.ว.ที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิมไว้ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้ในระยะเปลี่ยนผ่าน เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับเดิมกำหนดให้มี ส.ว.ทั้งแบบเลือกตั้ง และ ส.ว.สรรหา ดังนั้นจึงต้องรับรองสมาชิกภาพของ ส.ว.สรรหา ให้อยู่รักษาการจนกว่าจะได้สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ อย่างไรก็ตามนายพหล วรปัญญา ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอปิดอภิปรายมาตรา 10 อีกครั้ง ส่งผลให้ฝ่ายค้านประท้วงและเสนอเปิดอภิปราย เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงษ์ ส.ว.มุกดาหาร ที่เสนอให้เปิดอภิปรายต่อ
ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ถือโอกาสชี้แจงต่อที่ประชุมอีกครั้ง โดยยืนยันว่าไม่ได้วินิจฉัยประเด็นปิดอภิปรายคนละมาตรฐานกับนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา เนื่องจากในครั้งที่วินิจฉัยให้อภิปรายต่อได้ในมาตรา 4 นั้น เพราะไม่มีสมาชิกเสนอปิดอภิปราย แต่เป็นการเสนอให้ลงมติมาตรา 4 ดังนั้นการที่มีผู้เสนอญัตติเปิดและปิดการอภิปรายในมาตรา 10 ซึ่งถือเป็นกรณีเดียวกับที่นายนิคมเคยวินิจฉัย จึงต้องดำเนินการลงมติตามข้อบังคับ
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการเสนอปิดอภิปราย เพราะควรให้สิทธิกับสมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติได้อภิปรายอย่างเต็มที่ มิเช่นนั้นจะเป็นการริดรอนสิทธิของสมาชิก ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยืนยัน การเสนอญัตติปิดอภิปราย เป็นไปตามข้อบังคับและไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ใช้เสียงข้างมากลากไปตามที่ฝ่ายค้านกล่าวหา