ไทย-อิตาลีกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ-ความมั่นคง-ความร่วมมือพหุภาคี

ข่าวการเมือง Thursday September 12, 2013 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เผย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้หารือกับนายเอนริโก เล็ตตา(Enrico Letta) นายกรัฐมนตรีอิตาลี ที่จะขยายความร่วมมือในหลายด้าน ในโอกาสที่เดินทางไปเยือนพร้อมคณะ

ในด้านการค้าและการลงทุน นายกรัฐมนตรีอิตาลีได้เชิญชวนนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในอิตาลีเพิ่มขึ้น ขณะที่นายกรัฐมนตรีของไทยกล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวแต่ยังคงมีพื้นฐานมั่นคง โดยขณะนี้กำลังลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศและโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายในเมียนมาร์ ซึ่งไทยยินดีหากอิตาลีเข้ามาร่วมลงทุนและใช้ไทยเป็นประตูสู่อาเซียน นอกจากนี้ผู้นำทั้งสองประเทศต่างหวังว่าการเจรจา FTA ไทย-EU จะแล้วเสร็จตามเป้าภายใน 2 ปี โดยวันนี้จะมีการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่าง BOI และสถาบันเพื่อการค้าต่างประเทศของอิตาลีซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการขยายปริมาณการค้าและการลงทุนให้เพิ่มขึ้น

ด้านการส่งเสริม SMEs การออกแบบ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผู้นำทั้งสองประเทศมั่นใจว่า การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้าน SMEs ในวันนี้จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยและอิตาลีในการพัฒนา SMEs ได้ ส่วนเรื่องการออกแบบและเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น ผู้นำทั้งสองประเทศเห็นว่า รสนิยมของชาวเอเชียและยุโรปแตกต่างกัน ทำให้ไทยและอิตาลีร่วมกันสร้างสรรค์ ออกแบบและผลิตสินค้าที่มีความหลากหลาย และการที่ไทยมีวัตถุดิบที่มีคุณภาพและเอกลักษณ์อย่างผ้าไหมไทยซึ่งสามารถนำไปใช้สำหรับการออกแบบของอิตาลี จะทำให้ทั้งไทยและอิตาลีจะได้รับประโยชน์ร่วมกันและยังช่วยเพิ่มโอกาสของสินค้าอิตาลีในเอเชียอีกด้วย

ด้านการท่องเที่ยว ผู้นำทั้งสองประเทศยินดีที่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวอิตาลีเดินทางไปท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่อิตาลียังเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวไทยเช่นกัน

ด้านความร่วมมือด้านเทคโนโลยี นายกรัฐมนตรีของไทยแสดงความชื่นชมอิตาลีในฐานะผู้นำเรื่องพลังงานทดแทน ขณะที่ไทยตั้งเป้าการใช้พลังงานทดแทนให้เพิ่มขึ้น 25% ของการใช้พลังงานทั้งหมดภายในปี 2564 ซึ่งการเยือนครั้งนี้มีบริษัทด้านพลังงานที่สนใจพลังงานทดแทนของอิตาลีร่วมเดินทางมาด้วย โดยผู้นำทั้งสองประเทศหวังว่าไทยและอิตาลีจะสามารถขยายความร่วมมือในสาขานี้ต่อไปในอนาคต

ด้านความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี ผู้นำทั้งสองประเทศยินดีที่เป็นไปอย่างราบรื่น และในปี พ.ศ.2561 จะครบรอบ 150 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อิตาลี จึงนับเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ และในโอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศเห็นพ้องให้มีการจัดทำ Road Map เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างกัน และเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยปี 2561 ไทยจะเฉลิมฉลองให้เป็นปีของอิตาลี(Italy Year) และในอิตาลีจะเฉลิมฉลองให้เป็นปีของไทย(Thailand Year) ผู้นำทั้งสองประเทศจึงเสนอให้คณะกรรมาธิการร่วมไทย-อิตาลี เป็นกลไกหลักในการจัดกิจกรรมดังกล่าว รวมถึงติดตามผลการหารือทวิภาคีครั้งนี้ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีอิตาลีเห็นว่า 9 ปีที่ห่างหายจากการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำ ทำให้เกิดช่องว่างความสัมพันธ์และความร่วมมือ ซึ่งจากนี้ไปจะเร่งฟื้นฟูตาม Road Map ที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศได้หารือถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทยและอิตาลี โดยนายกรัฐมนตรีของไทยย้ำถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่มีเสถียรภาพ รัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายเพื่อเตรียมพร้อมต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง พร้อมเร่งสร้างบรรยากาศของความปรองดองและการส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน โดยผู้นำทั้งสองประเทศเห็นพ้องให้อิตาลีและไทยต่างเป็นประตูสู่ภูมิภาคระหว่างกัน โดยจะเน้นการขับเคลื่อนความร่วมมือในสาขา อาหาร การออกแบบ และ SMEs เป็นสำคัญ

ด้านความมั่นคง ไทยและอิตาลีหารือในเรื่องความร่วมมือทางทหาร ซึ่งไทยเห็นว่าอิตาลีมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และไทยพร้อมเรียนรู้และพัฒนาจากอิตาลี ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีของไทยชื่นชมบทบาทของอิตาลีในภารกิจรักษาสันติภาพและการฟื้นฟูความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ผู้นำทั้งสองประเทศต่างให้ความสำคัญในการรักษาความปลอดภัยทางทะเล ไทย-อิตาลีเคยส่งกองทัพเรือปฏิบัติภารกิจร่วมกับกองกำลังผสมนานาชาติ(Combined Maritime Forces-CMF) ในอ่าวเอเดนและรอบชายฝั่งประเทศโซมาเลีย ผู้นำทั้งสองประเทศจึงยินดีขยายความร่วมมือระหว่างกันในด้านดังกล่าวเพิ่มขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลอิตาลีที่เชิญบุคลากรทหารและตำรวจไทยร่วมฝึกอบรมในเรื่องภารกิจรักษาสันติภาพที่อิตาลี พร้อมเชิญฝ่ายอิตาลีส่งผู้แทนเข้าร่วมงานแสดงยุทโธปกรณ์นานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นในไทยระหว่างวันที่ 4-7 พฤศจิกายน 2556

ด้านความร่วมมือพหุภาคี ผู้นำทั้งสองประเทศหารือถึงพัฒนาการของอาเซียนซึ่งจะรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 และการจัดทำ FTA กับประเทศหุ้นส่วนต่างๆ ภายใต้ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค" ( RCEP) จะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนจากทั่วโลกรวมทั้งอิตาลีด้วย ไทย-อิตาลียินดีที่อาเซียนและยุโรปมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานและกำลังขยายความร่วมมือในอีกหลายมิติ หวังว่าการจัดตั้ง ASEAN Committee in Rome (ACR) จะเป็นกลไกส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับอิตาลีให้มากยิ่งขึ้น

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยได้แสดงความยินดีที่อิตาลีเข้ารับหน้าที่ประธานของ EU และพร้อมให้การสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEM ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 9-10 ตุลาคม 2557 ณ กรุงมิลาน และไทยในฐานะสมาชิกร่วมก่อตั้ง ASEM ยินดีสนับสนุนบทบาทของ ASEM ในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ การเพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุน และมุ่งกระชับความร่วมมือระหว่างกันในสาขาต่างๆ อาทิ การสร้างความเชื่อมโยง การเตรียมพร้อมและจัดการภัยพิบัติ และการต่อต้านการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ยังยินดีที่อิตาลีได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพงาน World Expo ในปี 2558 และในฐานะสมาชิกปัจจุบันของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council : HRC) ไทยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยมีเจตนารมย์ที่จะมีบทบาทและช่วยเหลือในเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อไป และไทยหวังว่าอิตาลีจะให้การสนับสนุนการสมัครในตำแหน่งสมาชิก HRC ในวาระที่สองด้วย (วาระปี 2558—2560)

จากนั้นเวลา 14.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น ผู้นำทั้งสองประเทศจะร่วมเป็นประธานการลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ ได้แก่ 1. บันทึกความเข้าใจฉบับใหม่ระหว่างไทยกับอิตาลีว่าด้วยความร่วมมือด้าน SMEs 2.บันทึกความเข้าใจฉบับใหม่ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกับสถาบันเพื่อการค้าต่างประเทศของอิตาลี(ICE) 3.ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการทหาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ