เอแบคเผยวามเสี่ยงทางการเมืองรัฐบาลยิ่งลักษณ์สูงขึ้น ม็อบยางคือปัจจัยเสี่ยงสูงสุด

ข่าวการเมือง Sunday September 15, 2013 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง "ประเมินดัชนีความเสี่ยงทางการเมือง"ประจำเดือน ก.ย.ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,235 ตัวอย่าง พบว่า ความเสี่ยงทางการเมืองของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพิ่มสูงขึ้นทุกตัว โดยมีม็อบยางพารา กำลังเป็นปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่สูงที่สุดอยู่ที่ 8.80 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นคือเรื่อง ข่าวอื้อฉาวพฤติกรรมนักการเมือง คณะที่ปรึกษารัฐมนตรี ทุจริต คอร์รัปชัน เอื้อประโยชน์พวกพ้อง สูงขึ้นจาก 5.29 ในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 7.88 และความไม่เป็นธรรมและการเลือกปฏิบัติสูงขึ้นจาก 5.24 เพิ่มขึ้นเป็น 7.87 ที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพสูง เพิ่มขึ้นจาก 4.21 ในเดือน พ.ค. เป็น 7.81 ในเดือน ก.ย. และปัจจัยเสี่ยงแทรกเข้ามาในช่วงเดือนสำรวจนี้คือ ความไม่เป็นกลางของรัฐสภาไทย มีความเสี่ยงสูงถึง 7.75

ทั้งนี้ ปัญหาสังคมโดยรวมเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อความมั่นคงทางการเมืองได้ โดยพบว่า ปัญหาสังคมที่มีคะแนนความเสี่ยงอยู่ที่ 5.11 ในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 7.46 ในการสำรวจล่าสุด โดยจากการสัมภาษณ์เจาะลึกเรื่องปัญหาสังคม พบว่า ผู้ถูกศึกษาส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชน ปัญหาการใช้ความรุนแรง ปัญหายาเสพติดในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ปัญหาการถูกคุกคามทางเพศ ปัญหาอาชญากรรมความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไป

ที่น่าพิจารณาคือ ความเสี่ยงทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการแทรกแซงทางการเมือง การครอบงำแทรกแซงนโยบายสาธารณะของรัฐบาล โดยกลุ่มคนชนชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มสูงขึ้นจาก 5.72 มาอยู่ที่ 7.40 นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่เกิดจาก พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท มีความเสี่ยงสูงถึง 7.38 และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีความเสี่ยงสูงถึง 7.34 เช่นกัน

นอกจากนี้ การสื่อสารทางการเมืองยังกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญโดยเพิ่มจาก 4.18 ในเดือน พ.ค. สูงขึ้นเป็น 7.24 ในเดือน ก.ย. และปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองอื่น ๆ รอง ๆ ลงไปได้แก่ โครงการจำนำข้าว อยู่ที่ 6.98 คุณภาพการศึกษาของไทย อยู่ที่ 6.93 และการชุมนุมทางการเมืองอยู่ที่ 6.90

อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ ความขัดแย้งระหว่างมวลชนสนับสนุนรัฐบาล กับ มวลชนต้านรัฐบาล ตกอันดับลงไป ไม่ได้อยู่ใน 10 อันดับแรก กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่นัก โดยมีคะแนนความเสี่ยงอยู่ที่ 6.80 และความไม่มั่นคงของประเทศโดยรวมอยู่ที่ 5.73 และปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ อยู่ที่ 5.46 ตามลำดับ

ส่วนปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองเรื่องความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี และความเสี่ยงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญในเวลานี้ เพราะถึงแม้ความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้น แต่อยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงน้อย คือเพิ่มจาก 3.29 มาอยู่ที่ 4.16 ในเรื่องความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี และความเสี่ยงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นจาก 2.57 มาเป็น 3.88 เท่านั้น โดยเมื่อประมวลความเสี่ยงทางการเมืองต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองโดยภาพรวมของรัฐบาล ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พบว่า มีความเสี่ยงสูงมากคืออยู่ที่ 7.76 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน แต่คะแนนสนับสนุนของประชาชนที่มีต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อยู่ในระดับค่อนข้างมากคือ 6.67 คะแนน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ