1.ส่งเรื่องให้สำนักอัยการสูงสุดฟ้องบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด(สไตเออร์ฯ) เพื่อเพิกถอนสัญญาซื้อขายรถและเรือดับเพลิงฯ ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาการค้าระหว่างประเทศ
2.ว่าจ้างทนายความฟ้องคดียังศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เนื่องจากตามข้อตกลงในสัญญาที่ได้ลงนามแล้วระบุไว้หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นจะต้องมีการฟ้องคดียังศาลนี้ คำฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งหรือพิพากษาให้ยกเลิกหรือเพิกถอนการลงนามในข้อตกลงซื้อขาย และเรียกเงินตามสัญญาซื้อขายกลับคืนทั้งหมดเต็มจำนวน เนื่องจากการทำสัญญาจัดซื้อครั้งนี้มีการทุจริต กำหนดราคารถและเรือดับเพลิงตลอดจนอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยมีราคาสูงผิดปกติ และบริษัทสไตเออร์ฯมีการดำเนินการที่ผิดไปจากข้อกำหนดในสัญญาจัดซื้อ
ซึ่งเป็นประเด็นอย่างเดียวกับที่สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ได้ชี้มูลความผิดทางอาญากับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และได้ยื่นฟ้องเป็นคดีไว้ต่อศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง บริษัทสไตเออร์ฯ ได้ต่อสู้คดีในศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศโดยขอให้กรุงเทพมหานครรับเอารถและเรือดับเพลิงกับอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยทั้งหมดตามสัญญาซื้อขายไว้ โดยบริษัทฯจะลดราคาให้ในอัตรา 10% ของราคาตามสัญญาซื้อขาย และขอให้ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศวินิจฉัยชี้ขาดให้กรุงเทพมหานครยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว
3. เรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากความรับผิดทางละเมิด โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง และ 4.ลงโทษทางวินัยแก่ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง
โดยขณะนี้ กรุงเทพมหานครยังรอผลการตัดสินชี้ขาดคดีในศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ การที่องค์คณะผู้พิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีมติเสียงข้างมากให้จำคุก นายประชา จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 12 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และ 13 และจำคุก 10 ปี พล.ต.ต.อธิลักษณ์ จำเลยที่ 4 ตาม พ.ร.บ.ฉบับเดียวกัน มาตรา 12 จากกรณีที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการผลักดันให้เร่งรัดสั่งซื้ออุปกรณ์ครุภัณฑ์บรรเทาสาธารณภัยตามโครงการพัฒนาระบบและบริหารการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.เมื่อปี 2547 ไม่ชอบ โดยฝ่าฝืนมติ ครม.และข้อบัญญัติของการบริหารราชการ กทม.และระเบียบการจัดซื้อ จนทำให้การสั่งซื้อสินค้าเอื้อประโยชน์กับบริษัทสไตเออร์ จำเลยที่ 5 ซึ่งมีการสั่งซื่อราคาแพง และ บริษัทสไตเออร์ฯได้รับประโยชน์ 48.77% เมื่อเทียบกับราคาที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กระทรวงมหาดไทยจัดซื้ออุปกรณ์ประเภทเดียวกันที่ผลิตและจัดจำหน่วยภายในประเทศไทย โดยการจัดซื้อจากการผลักดันของจำเลยที่ 2 และ 4 ก็ไม่ได้เปรียบเทียบราคาสินค้าจากผู้ผลิตรายอื่นกระทั่งทำให้มีการจัดซื้อสินค้าด้วยวิธีการพิเศษและส่งผลให้จำเลยที่ 5 รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวอันเป็นการกีดกันทางการค้าและการเสนอราคาแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม
ยิ่งเป็นการพิสูจน์แล้วว่าการทำสัญญาจัดซื้อครั้งนี้มีการทุจริต ซึ่งเป็นไปตามคำร้องของกรุงเทพมหานครต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศขอให้ศาลมีคำสั่งหรือพิพากษาให้ยกเลิกหรือเพิกถอนการลงนามในข้อตกลงซื้อขาย และเรียกเงินตามสัญญาซื้อขายกลับคืนทั้งหมดเต็มจำนวน
กรุงเทพมหานครจึงไม่สามารถรับรถและเรือดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยที่บริษัทสไตเออร์ฯ ได้จัดส่งมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะหากกระทำการดังกล่าว ก็จะหมายความว่ากรุงเทพมหานครยอมรับตามข้อเสนอของบริษัทสไตเออร์ฯ ที่ประสงค์จะไม่ให้มีการเพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ศาลฏีกาได้พิพากษาไปแล้วว่าเกิดขึ้นจากการกระทำทุจริตและละเมิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องนั่นเอง
ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวให้สาธารณชนได้ทราบ และเข้าใจจุดยืน ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องเป็นธรรม รักษาผลประโยชน์ของประชาชนและของสาธารณะ ภายใต้กรอบกฎหมาย และจะได้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินการทางกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้ทราบโดยต่อเนื่องสม่ำเสมอ
และกรุงเทพมหานครจะได้ติดตามผลการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างใกล้ชิด และจะดำเนินการแปลคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์เพื่อส่งไปประกอบการพิจารณาของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศต่อไป