ส่วนสาเหตุที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชขยายเวลาการใช้ พ.ร.บ.การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่ออีก 12 ชั่วโมงนั้น รมว.มหาดไทย ระบุว่า หากเจ้าหน้าที่ใช้ความเด็ดขาดในการแก้ปัญหาแล้วเกิดความแตกหักเสียหายก็จะไม่คุ้ม ดังนั้นฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็จะดำเนินการด้วยความนุ่มนวล
"วันนี้การแก้ปัญหาเร็วที่สุดต้องดูว่าใครหนุนหลังกลุ่มผู้ชุมนุมในขณะนี้ สายป่านมาจากไหนเราต้องตัดท่อน้ำเลี้ยงให้ได้ กระทรวงมหาดไทยรู้แล้วว่าเป็นใคร ก็กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ วันนี้รัฐบาลรู้หมดแล้วว่าอะไรเป็นอะไรและใครหนุนหลัง และขอบอกเลยว่าขอให้หยุด ถ้าไม่หยุดเราจะเข้าไปตรวจให้มันรู้แล้วรู้รอดไป" นายจารุพงศ์กล่าว
นายจารุพงศ์ กล่าวถึงกรณีที่นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รมช.มหาดไทย จะลงไปพูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ว่า นายวิสารเป็น ส.ส.มา 5 สมัยรู้จักมักคุ้นกับ ส.ส.ภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายวิสารบอกว่าจะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเข้าไปพูดคุย เพราะถ้าเข้าไปพูดคุยในนามของ รมช.มหาดไทย ก็คงไม่สำเร็จเพราะมีค่ายมีพรรคการเมืองสังกัดอยู่ ดังนั้นนายวิสาร จะไปหารือกับพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเพื่อนและจับเข่าคุยกัน เพื่อรับฟังความต้องการของพรรคประชาธิปัตย์ และยืนยันว่านายวิสาร ไปหารือในนามส่วนตัว ไม่ใช่การถูกมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด
ส่วนจะได้รับความร่วมมือจากส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่หรือไม่นั้น รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราชรายงานว่าเมื่อเช้านี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้โทรศัพท์มาบอกว่ามีความห่วงใยสถานการณ์และจะช่วยเข้าไปเคลียร์ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ขัดข้อง ใครที่เสนอตัวเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรายินดี
รมว.มหาดไทย ยอมรับว่า ถึงวันนี้มีแนวโน้มว่าจะเกิดการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลงไปช่วยเหลือ แต่รัฐบาลไม่ได้ถือว่าเป็นม็อบ เพราะถือว่าเมื่อประชาชนมีปัญหาราคาพืชผลตกต่ำก็ย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นหรือมาบอกกล่าวกับรัฐบาลได้ ซึ่งรัฐบาลพร้อมรับฟังและแก้ไขปัญหาให้ ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องราคาข้าวโพด ปัญหาชาวนาภาคกลางที่เพาะปลูกล่าช้ากว่าภาคอื่น ก็มีการพูดคุยกันอยู่
"เชื่อว่าจะสามารถพูดคุยกันได้ แต่ถ้าถึงขั้นที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการหนุนหลัง เป็นเกมการเมือง หรือเป็นเรื่องของผลประโยชน์ เช่น มีพ่อค้าตุนยางพาราไว้จำนวนมากยากได้ราคาที่สูงขึ้น ได้กำไรเพิ่มอีกเป็นพันล้าน อย่างนี้รัฐบาลยอมไม่ได้" นายจารุพงศ์ กล่าว
รมว.มหาดไทย เชื่อว่าจะสามารถเห็นความชัดเจนได้ในวันนี้ เพราะถ้าดูเจตนาของเกษตรกรที่มาชุมนุมก็จะเห็นว่าส่วนใหญ่ยอมรับและมีความพอใจต่อการดำเนินการของรัฐบาลในการทำให้ยางพารามีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 90 บาท แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกคนมีความพอใจหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ความไม่พอใจของคนส่วนน้อยไปสร้างความรุนแรงก็ถือว่าไม่เหมาะสมจึงต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย