โดยสรุปคือการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในอนาคตขึ้นอยู่กับการกระทำในปัจจุบันเป็นสำคัญ อยู่ที่ภาคปฏิบัติไม่ใช่ทฤษฎี เมื่อพูดถึงการเมืองผู้ปฏิบัติต้องยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยเคารพอำนาจซึ่งกันและกัน ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ต้องไม่แทรกแซงหรือทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยรัฐบาลต้องเป็นหลัก
นายชวน กล่าวอีกว่า ได้มอบหลักธรรมาภิบาล 6 ข้อกับนายบรรหารว่า หากรัฐบาลปฏิบัติตามจะเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น การเคารพกฎหมายบ้านเมือง ใช้กฎหมายยุติธรรมอย่างเสมอกัน เพราะความแตกแยกสามัคคีส่วนหนึ่งมาจากการเลือกปฏิบัติ เช่น ความแตกแยกของเกษตรกรสวนยางพาราและชาวนาเกิดความขัดแย้งกันขึ้นโดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้ ได้มีการพูดถึงว่าวันนี้ครบรอบ 7 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่าเงื่อนไข 4 ข้อที่ถูกอ้างในการทำรัฐประหารวันนี้ยังมีอยู่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการโกงกิน แทรกแซงองค์กรอิสระ ความแตกแยกสามัคคี หรือการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนหนึ่งมาจากคนในฝ่ายรัฐบาล ซึ่งต้องทบทวน หากรัฐบาลต้องการปฏิรูปการเมืองและสังคมในอนาคต ต้องทบทวนตัวเองด้วยในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติ
"หากรัฐบาลสามารถปฏิบัติเป็นตัวอย่างได้ ฝ่ายอื่นก็ไม่มีปัญหา โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ตัวปัญหาของบ้านเมือง เพราะเราไม่ใช่ฝ่ายปฏิบัติแล้ว และพวกตนมาจากระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง ขณะที่บางพวกอ้างมาจากประชาธิปไตยแต่โกงเลือกตั้ง"นายชวน กล่าว
พร้อมกันนี้ ได้มอบเอกสารให้นายบรรหารไป 1 แฟ้มเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา ซึ่งการวางแผนปฏิรูปในอนาคตทุกอย่างอยู่ที่รัฐบาลที่ต้องปฏิบัติตามนั้นจริง ไม่ใช่พูดแล้วไม่ปฏิบัติ เช่น การปล่อยให้คนของตนเองไปแทรกแซงองค์กรต่าง ๆ ปล่อยให้มารังควานพรรคฝ่ายค้าน สิ่งเหล่านี้ควรเลิกทำได้แล้ว อย่างกรณีการพิจารณา พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง วิจารณ์ว่าฝ่ายค้านเอาตีนราน้ำ อย่างนี้จะเรียกหาความสามัคคีได้อย่างไร รัฐบาลไม่เป็นตัวอย่างในการให้เกิดความสามัคคีต้องเคารพหน้าที่ของแต่ละฝ่าย และย้ำให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสภา ซึ่งนายบรรหาร ก็ยอมรับว่าเข้าใจ