"ต้องการเรียกร้องให้ภาครัฐกวดขันเรื่องการดำเนินคดี ไม่ปล่อยให้คดีสิ้นอายุความโดยไม่สามารถติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย เพราะจะกลายเป็นแบบอย่างที่ทำลายคุณธรรมของสังคมไทย ซึ่งทุกวันนี้เสื่อมถอยไปมากแล้ว" คุณหญิงชฎา กล่าว
ทั้งนี้ องค์กรต่อต้านฯ ได้เสนอมาตรการที่จะบังคับใช้ต่อต้านคอร์รัปชั่น 7 แนวทาง ได้แก่ 1.หน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างสู่สาธารณะ การประมูลโครงการใหญ่ควรมีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อของรัฐให้ประชาชนรับทราบ 2.บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับภาษีและระบบงบประมาณอย่างจริงจัง เพื่อควบคุมรายได้ รายรับ รายจ่าย ของหน่วยงานต่างๆ อย่างชัดเจน
3.สนับสนุนแนวทางการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ พร้อมมีการเสนอสินบนหรือรางวัลในวงเงินที่จำกัดและเหมาะสม ควบคู่กับการคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลและปกป้องพยาน 4.การกำหนดโทษและบทลงโทษต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำทุจริตให้รุนแรงขึ้น และให้มีอายุความที่จะสอบสวนดำเนินการได้ยาวนานขึ้น(ไม่ใช่หมดอายุความแค่ 20 ปี)
5.ปฏิรูปการศึกษาและสนับสนุนการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนในการตรวจสอบการทุจริต 6.การสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบโครงการ เช่น การจัดระบบประชาพิจารณ์โครงการ และ 7.การกำหนดกฎจรรยาบรรณและการส่งเสริมให้มีการใช้จรรยาบรรณในวิชาชีพทั้งในภาคราชการและธุรกิจเอกชน
คุณหญิงชฎา กล่าวว่า องค์กรต่อต้านฯ เตรียมเชิญผู้นำความคิดและผู้เชี่ยวชาญในสายงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมระดมความคิดเห็น เพื่อให้ข้อเสนอแนะแนวทางแก่รัฐบาล รวมทั้งเป็นการให้ข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาของสังคมในหมู่ประชาชนให้ลุกขึ้นมาร่วมรู้ ร่วมสู้ ช่วยกู้ชาติให้พ้นภัยคอร์รัปชัน