น.ส.รสนา กล่าวว่า เหตุที่ต้องยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการพิจารณาแต่ละมาตรากลับไปกลับมา และเร่งรีบผิดขั้นตอน ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291(1) ได้กำหนดเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าหากจะมีการแก้ไขในวาระที่ 2 การพิจารณาแต่ละมาตราต้องเป็นไปตามลำดับ แต่ในข้อเท็จจริงพบว่าการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมในที่มาสว.ในมาตรา 5 ประธานในที่ประชุมได้ตัดสิทธิผู้ที่ยื่นญัตติเหลือเพียงไม่กี่คน และต่อมามีการเสนอลงมติเพื่อปิดอภิปราย จากนั้นวันรุ่งขึ้นก็กลับมีการพิจารณามาตรา 5 ใหม่
นอกจากนี้เห็นว่าองค์กรวุฒิสภาเป็นองค์กรกลุ่ม การพิจารณากฎหมาย รัฐธรรมนูญกำหนดว่าหากองค์ประชุมไม่ครบ จะทำให้กฎหมายตกไป ซึ่งนอกจากเรื่ององค์ประชุมแล้วยังมีเรื่องขององค์มติคือเสียงข้างในที่ประชุมที่กฎหมายกำหนดว่า ผู้ที่จะลงมตินั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่มีส่วนได้เสียในมติดังกล่าว แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งนั้น ส.ว.ที่พิจารณาในเรื่องนี้ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 122 และมาตรา3 วรรค2 ที่กำหนดว่าการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม
รวมทั้งการแก้ที่มาของ ส.ว. หากทำสำเร็จจะทำให้การเป็นองค์กรถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจรัฐสูญเสียไป จึงเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้การตรากฎหมายเสียไปทั้งฉบับ และเป็นไปเพื่อให้ทันกับ ส.ว.ที่จะหมดวาระในวันที่ 2 มี.ค.57 ซึ่งจะสามารถลงเลือกตั้งใหม่ได้ทันที