นางพรพันธุ์ กล่าวว่า เนื่องจากนายนิคม มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ส่อไปทางทุจริตต่อหน้าที่ และใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญจากกรณีที่นายนิคม ลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 68 และ 237 และร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 190 ทั้งที่ตำแหน่งประธานวุฒิสภา โดยหลักการทั่วไปส.ว.จะริเริ่มเสนอกฎหมายไม่ได้ ยกเว้นการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดกันแห่งผลประโยชน์
นอกจากนี้ นายนิคม ยังทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่มาส.ว.อย่างไม่มีความเป็นกลาง รวมไปถึงการที่นายนิคม ระบุว่าเมื่อแก้ไขเรื่องนี้สำเร็จจะมีสิทธิกลับมาลงรับสมัครเลือกตั้งส.ว.ได้ทันที ถือว่าเป็นผลประโยชน์ที่ได้รับจากการทำหน้าที่ในฐานะประธานฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ดังนั้นด้วยพฤติกรรมเหล่านี้จึงขอให้ส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการตามกระบวนการถอดถอนต่อไป
ด้าน นพ.อนันต์ ระบุว่า ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดปัญหาส.ว.ยื่นถอดถอนประธานวุฒิสภา และเห็นว่าวันนี้การทำงานร่วมกันของส.ว.ค่อนข้างลำบาก แม้จะนัดหารือก็ยังต้องเลือกว่าใครจะพูดคุยกับใครได้บ้าง อย่างไรก็ตาม จะรับเรื่องไว้เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป คาดว่าจะส่งให้ป.ป.ช.ได้ในวันที่ 8 ต.ค.