"กิตติรัตน์"โชว์ผลงานศก.เพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย/"อภิสิทธิ์"ชี้แก้ไม่ตรงจุดทำถดถอย

ข่าวการเมือง Tuesday September 24, 2013 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงผลงาน 1 ปีของรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศตลอดระยะเวลาในการบริหารงานของรัฐบาลที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายต่างๆ ด้วยงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เต่ก็มีความพยายามให้อัตราการขาดดุลงบประมาณลดลง และตั้งเป้าการเข้าสู่งบประมาณสมดุลในปี 60 รวมถึงระมัดระวังการเพิ่มหนี้สาธารณะ โดยยืนยันจะบริหารจัดการควบคุมหนี้สาธารณะไม่ให้เกิน 50% เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง

งานสำคัญที่ผ่านมานั้น รัฐบาลเน้นเรื่องการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาสของประชาชน โดยยังคงเน้นการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ จะเห็นได้จากอัตราการว่างงานที่ต่ำลง และมีรายได้เข้าประเทศจากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ขณะที่ตลอดระยะเวลา 1 ปี รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เพิ่มรายได้ให้ข้าราชการและพนักงานทั่วไปที่จบปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท การลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล การพักหนี้เกษตรกรรายย่อย รวมถึงการออกบัตรสินเชื่อเกษตรกร การตรึงราคาสินค้า การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล มีโครงการบ้านหลังแรก และรถคันแรก นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายวางรากฐานในกับอนาคตของประเทศหลังประสบปัญหาอุทกภัยปี 54 ด้วยการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ภาพรวมการแข่งขันและเศรษฐกิจของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากปี 53 เป็นต้นมา โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายของปี 56 ที่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบ ขณะที่มาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นการเพิ่มค่าครองชีพให้เพิ่มสูงขึ้นทั้ง อาหาร เชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม รวมถึงค่าไฟฟ้า สินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคายางพารา จนเกิดการชุมนุมประท้วง ส่วนโครงการรับจำนำข้าวส่งผลกระทบต่อราคาตลาด และเห็นว่านโยบายประชานิยมเป็นการเพิ่มหนี้และทำลายวินัยทางการคลังของประเทศ

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เรียกร้องให้รัฐบาลมีการทบทวนการดำเนินนโยบายไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การบริการจัดการน้ำ เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจด้านต่างๆมีการปรับลดลงเกือบทุกด้าน พร้อมทั้งขอให้รัฐให้ความสำคัญด้านการศึกษามากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ