ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคำร้อง"สมเจตน์-วิรัตน์"ค้านแก้ รธน. แต่ไม่สั่งยุติการพิจารณา

ข่าวการเมือง Wednesday September 25, 2013 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากให้รับวินิจฉัยคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับพวก และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กับพวก ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า ประธานรัฐสภา กับพวกรวม 310 คน กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่

"ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก(5 ต่อ 2) เห็นว่า กรณีมีมูลเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปโดยวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง จึงมีคำสั่งวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง" คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

ขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อย คือ นายชัช ชลวร เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากลายลักษณ์อักษรและเจตนารมย์ของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แล้ว รัฐธรรมนูญมุ่งประสงค์ให้เฉพาะอัยการสูงสุดเท่านั้นที่เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ส่วนนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี เห็นว่า กรณีตามคำร้องยังไม่มีมูลกรณีฝ่าฝืนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยกคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินที่จะให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดระงับการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

คำร้องทั้งสองสรุปได้ว่า การที่ผู้ร้องทั้งหมดได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่...) พุทธศักราช...(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111, มาตรา 112, มาตรา 115, มาตรา 116 วรรคสอง, มาตร่า 117, มาตรา 118, มาตรา 120, มาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114) ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ผู้ถูกร้องที่ 1 โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งข้อบังคับว่าด้วยการประชุมรัฐสภา ทั้งในเชิงรูปแบบ กระบวนการ และเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 การเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปโดยวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ อันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง

ทั้งนี้ ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ร้องทั้งหมดเลิกการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว และเพิกถอนการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวทั้งหมดทันที และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน และพรรคประชาธิปไตยใหม่ รวมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบเป็นเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง รวมทั้งดำเนินการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 และสมาชิกรัฐสภายุติการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ