"เราจะทำอย่างไรให้การคาดหวังนี้เราเดินไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน และที่สำคัญถ้าเรามีการลงทุนทุกโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของการที่เราจะบอกว่า สิ่งที่เราคาดหวัง สิ่งที่เราฝันหรืออนาคตนั้นจะเกิดขึ้นจริง เพื่อโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านที่รัฐบาลจะได้มีโอกาสได้นำเสนอ" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานที่พูดถึงคือระบบคมนาคม ไม่ว่าจะเป็น ทางน้ำ ทางบก ทางอากาศ และรวมถึงเรื่องด่าน การเชื่อมโยงประเทศในกลุ่มประเทศภูมิภาคในกลุ่มอาเซียนเข้าด้วยกัน เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมระหว่างประเทศไทยไปต่อเชื่อมกับเมืองต่างๆ นั้น
"สิ่งที่เราเห็นนี้ก็จะทำให้เมืองต่างๆ มีความเสมอภาค ไม่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผู้คนจะเดินทางหากันได้มากขึ้น เราคิดว่าโครงการนี้ต้องเป็นโครงการของคนไทยทุกคน คนไทยทุกคนจะร่วมมือกันอย่างไรในการที่จะทำให้โครงการต่างๆ เหล่านี้เป็นจริง และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศไทย" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
ที่ผ่านมาเราใช้เวลาในการพัฒนาระบบคมนาคมมาตลอด แต่ช่วงหลังเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยๆ เราก็ขาดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นเวลานาน เราจึงต้องเชื่อว่าสิ่งที่เราควรจะต้องทำให้ประเทศของเรานั้นสามารถที่จะก้าวไปในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันก็คือการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศที่ใช้เวลาถึง 7 ปีกว่า
"อยากเรียนว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน อยากขอใช้คำว่าเป็น พ.ร.บ.เพื่อการลงทุนค่ะ เพราะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างอนาคตของประเทศไทย แล้วเราจะได้พูดกันว่าในปี 2020 อนาคตของประเทศไทยหลังจากมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วจะเป็นอย่างไร" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
การที่ประเทศไม่ได้ลงทุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นเวลานาน ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง เพราะเพื่อนบ้านพัฒนาขีดความสามารถแต่เราอยู่กับที่ และสิ่งที่จะได้ตามมาคือเรื่องลดการใช้พลังงาน ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่ง
"การยกระดับขีดความสามารถนี้ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจกับนักลงทุน" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
สิ่งที่จะได้ตามมาคือเรื่องลดการใช้พลังงาน ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่งที่เราจะไม่สามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่นได้เลย คนที่จะเข้ามาลงทุนก็ต้องวิเคราะห์ว่าจะมาลงทุนในประเทศไทยต้นทุนเป็นอย่างไรเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ตรงนี้ก็เป็นจุดดึงดูดนักลงทุนด้วย การเชื่อมโยงประชาคมอาเซียนที่จับต้องได้คือเส้นทางโลจิสติกส์หรือคมนาคมระหว่างเพื่อนบ้าน และการมีด่าน National Single Window ที่เป็นมาตรฐาน ทุกอย่างต้องมีการวางระบบที่มีโครงสร้างแน่นอนเพื่อให้เกิดการพัฒนาเกิดความเจริญ และไม่กระทบต่อความมั่นคง" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
"การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้นไม่ได้แค่ตอบโจทย์ว่าเรามีโครงสร้างพื้นฐาน เรามีรถไฟความเร็วสูง เรามีรถไฟรางคู่ เรามีถนน เรามีทางด้านของสนามบินหรือแม้กระทั่งเรามีด่านชายแดน มีท่าเรือต่างๆ แต่สิ่งที่เราจะได้คือมากกว่านั้น" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
การส่งเสริมสินค้าเกษตร สินค้าโอทอป สินค้าพื้นบ้าน ที่ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ดีขึ้น จะมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคตามมาทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน สถานีตำรวจ
"สิ่งที่เรามองว่าประโยชน์จะเกิดขึ้นมากกว่านี้ ดังนั้นรถไฟหรือโครงสร้างพื้นฐานเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม แล้วสิ่งต่างๆ นี้ก็จะเกิดขึ้น" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนอกจากจะทำให้ต้นทุนลดลงแล้ว จะเชื่อมโยงแหล่งผลิต ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้แก่ ภาคการเกษตรเข้ากับโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปไปจนถึงส่งออกในเวลาที่รวดเร็ว การส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว การวางระบบผังเมืองให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่
"เราก็อยากจะเห็นว่าภาพนี้เป็นขีดความสามารถที่จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานของเราดีขึ้น เราเชื่อมโยงความเจริญสู่ความเจริญ เรากระจายความเจริญไปยังเมืองต่างๆ ให้ทั่วถึงขึ้น แต่ที่สำคัญสิ่งที่เรามองเห็นภาพในอนาคตของปี 2020 นั้น คือความอบอุ่นของครอบครัว" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมโรดโชว์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน จำนวน 12 กลุ่มจังหวัด ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.56 ได้แก่ จังหวัดหนองคาย วันที่ 4-6 ตุลาคม, จังหวัดนครราชสีมา 11-13 ตุลาคม, จังหวัดชลบุรี 15-17 ตุลาคม, จังหวัดอุบลราชธานี 18-20 ตุลาคม, จังหวัดขอนแก่น 25-27 ตุลาคม, จังหวัดนครสวรรค์ 1-3 พฤศจิกายน, จังหวัดฉะเชิงเทรา 1-3 พฤศจิกายน, จังหวัดเพชรบุรี 8-10 พฤศจิกายน, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 8-11 พฤศจิกายน, จังหวัดเชียงใหม่ 15-17 พฤศจิกายน, จังหวัดนครศรีธรรมราช 22-24 พฤศจิกายน และจังหวัดสงขลา 29 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม
ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวถึงการกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาลวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ว่า รัฐบาลกำหนดเป้าหมายรักษาระดับปัญหาหนี้สาธารณะไม่ให้เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี การออกกฎหมายกู้เงินมาลงทุน 2 ล้านล้านบาท เมื่อทำการลงทุนจริง และในบางโครงการจะดึงเอกชนมาร่วมลงทุนแบบ PPP หากมีข้อเสนอที่ดี ทำให้ยอดเงินลงทุนอาจใช้ไม่ถึง 2 ล้านล้านบาท จึงทำให้แผนลงทุนดังกล่าวเป็นการสร้างอนาคตของประเทศ
ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลต้องออกไปชี้แจงให้ประชาชนรับทราบและเข้าใจถึงเหตุผลการลงทุน 2 ล้านล้านบาท โดยการใช้เงินลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 80 เพื่อใช้พัฒนาระบบราง ในช่วง 7 ปี โดยเน้นก่อสร้างรถไฟฟ้า 4 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ -เชียงใหม่ ,กรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-ระยอง, กรุงเทพฯ-หัวหิน ใช้เงินลงทุนสัดส่วนร้อยละ 39 ของวงเงินทั้งหมด
ในปีแรกจะดำเนินโครงการก่อสร้างระบบโครงการสร้างพื้นฐานทุกระบบ ทั้งรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ใช้เงินลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาท รวมถึงการสร้างรถไฟรางคู่ 5 เส้นทาง เช่น เส้นทาง กรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-เด่นชัย ระยะทาง 2,800 กิโลเมตร เพื่อให้มีรางคู่สามารถวิ่งส่วนทางได้ สำหรับรถไฟเส้นทางธรรมดา ถนนมอเตอร์เวย์ 4 เลน รวมไปถึงการสร้างด่านศุลกากร ท่าเรือ
ทั้งนี้รัฐบาลจะเน้นโครงการลงทุนให้มีความโปร่งใส ซื่อสัตย์ ยุติธรรม โดยได้เชิญภาคีต่อต้านคอรัปชั่นจากภาคเอกชนมาร่วมหารือในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ ที่กระทรวงการคลัง เพื่อเข้ามาเป็นกรรมการร่วมพิจารณาโครงการลงทุน โดยรัฐบาลได้เตรียมแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างทุกประเภทเพื่อรองรับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการลงทุนครั้งนี้
"รัฐบาลต้องไปชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่ที่เส้นทางรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน เพื่อให้ประชาชน นักธุรกิจ ในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น" นายชัชชาติ กล่าว