ดังนั้น เมื่อรัฐสภาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่าน 3 วาระ มีการลงคะแนนเรียบร้อย ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (7) บัญญัติไว้ว่าเมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้วให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
"ต้องรอดูว่าสภาจะมีมติอย่างไรในวันที่ 28 กันยายนนี้ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่มีการถ่วงเวลา เพราะเป็นการดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญแล้ว"นายสุรนันท์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากมีการลงมติใน วันที่ 28 กันยายน ทุกอย่างผ่านตามกระบวนการ นายกรัฐมนตรีก็พร้อมที่จะดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะนายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถขัดรัฐธรรมนูญได้ และในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรีปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแล้วมีผู้เห็นแย้งอย่างไร หรือศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินออกมาอย่างไร ก็เป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลต้องปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติไว้
"เมื่อมีการวินิจฉัยหรือตีความออกมาอย่างไร รัฐบาลก็พร้อมปฏิบัติตาม แต่วันนี้ทิศทางของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีก็ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 291(7) ส่วนการตีความของรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่อำนาจของฝ่ายบริหาร แต่เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัย"
หากเกิดกรณีที่นายกรัฐมนตรีนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯไปแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ถือว่าได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญทุกประการ เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความว่าสิ่งไหนทำได้หรือทำไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ทำนั้นผิด เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยเสมอในกรณีที่มีความเห็นไม่ลงรอยกันระหว่างอำนาจต่างๆ และเมื่อมีการตีความทางกฎหมายรัฐบาลก็พร้อมปฏิบัติ