เอแบคโพลล์ชี้ปชช.ผิดหวังพฤติกรรมส.ส., เกินครึ่งเห็นควรเลื่อนโหวตวาระ3

ข่าวการเมือง Saturday September 28, 2013 09:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาว ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความรู้สึกของประชาชนต่อพฤติกรรมของสภาผู้ทรงเกียรติ ทัศนคติของประชาชนที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.8 รู้สึกผิดหวังต่อข่าวการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. ในสภาผู้แทนอันทรงเกียรติ เพราะเกิดขึ้นซ้ำซาก และคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอยู่แล้วในสภาผู้แทนอันทรงเกียรติไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือโดนกลั่นแกล้ง ในขณะที่ร้อยละ 24.2 รู้สึกเฉยๆ เพราะพฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยจนเริ่มชิน

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 81.1 คิดว่าภาพวีดีโอการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. ในสภาผู้แทนอันทรงเกียรติเป็นเรื่องจริง และร้อยละ 18.9 คิดว่าตัดต่อ

ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มตัวอย่างกว่าสองในสามหรือร้อยละ 67.8 เริ่มหมดความอดทนต่อพฤติกรรมของรัฐสภา สภาผู้แทนอันทรงเกียรติ ในพฤติกรรมซ้ำซากที่เกิดขึ้นในขณะประชุมสภาฯ ตั้งแต่วันเปิดประชุมสภาฯ มาจนถึงวันนี้ ในขณะที่ร้อยละ 32.2 ยังทนได้อยู่

สิ่งสำคัญที่ประชาชนฝากถึงสภาผู้แทนอันทรงเกียรติในการประชุมสภาฯ ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่นี้คือ ร้อยละ 89.6 ระบุว่าอยากเห็นการพูดคุย ถกเถียงกันอย่างสุภาพชน มีพฤติกรรมและมารยาทที่เหมาะสม น่าเคารพนับถือในฐานะผู้แทนของประชาชนทั่วทั้งประเทศ มีเพียงร้อยละ 10.4 เท่านั้นที่ระบุว่าทำดีอยู่แล้วไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 56.3 คิดว่าควรจะเลื่อนการลงมติวาระ 3 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่มาของ ส.ว. เพราะกลัวจะเกิดความวุ่นวายขึ้นอีก ในขณะที่ร้อยละ 43.7 คิดว่าควรดำเนินการต่อไป เพราะคิดว่าน่าจะเป็นไปตามวาระการประชุม

นางสาวปุณฑรีก์ กล่าวว่า ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่ค้นพบครั้งนี้น่าจะชัดเจนเพียงพอว่าประชาชนตอบโต้กับพฤติกรรมไม่เหมาะสมของ “ต้นแบบ" ของสังคมในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาอันทรงเกียรติอย่างน่าพิจารณา เพราะครั้งนี้ไม่ใช่ความเสื่อมเสียครั้งแรกที่สาธารณชนรับทราบ แต่เคยรับทราบกันมาทั้ง การดูภาพโป๊เปลือย การท้าตีท้าต่อย การใช้ถ้อยคำรุนแรง การขว้างปาสิ่งของ การทุ่มเก้าอี้ และล่าสุดการเสียบบัตรแทนกัน เป็นต้น แต่สังคมของกลุ่มคนที่น่าจะเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรีแห่งสภาอันทรงเกียรติก็ปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำซากกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นกัน ต่อไปอาจจะมีเรื่องร้ายแรงบานปลายขึ้นได้ในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ได้

ดังนั้น กลไกของสภาอันทรงเกียรติต้องทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพในการควบคุมให้สมาชิกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม มากกว่ามีพฤติกรรมแบบพวกล้าหลังของการพัฒนา และหากปล่อยให้เกิดขึ้นเช่นนี้ต่อไปจะทำลายความเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยและฝ่ายการเมือง เพราะฝ่ายการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องทำหน้าที่ลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนไม่ใช่กลายเป็นตัวปัญหาความขัดแย้งเสียเอง

กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ สงขลา ขอนแก่น ชลบุรี และเชียงใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 1,873 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 — 27 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.3 ติดตามข่าวสารการเมืองผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ