นายจุรินทร์ กล่าวยืนยันว่า สามารถใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 ยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เพราะแม้รัฐธรรมนูญมาตรา 154 จะครอบคลุมเพียงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แต่มองว่าตามรัฐธรรมนูญแล้วกำหนดให้แม้แต่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญยังต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้นย่อมเทียบเคียงได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่มีความสำคัญกว่าย่อมสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยยกคำร้องที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ในฐานะสส.พรรคเพื่อไทย ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามมาตรา 154 ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ชอบ โดยศาลยกคำร้องเพราะเห็นว่ามาตรา 154 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการตรา พ.ร.บ.เท่านั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ต้องแยกเป็นคนละกรณี เพราะแต่ละร่างกฎหมายมีการพิจารณาแตกต่างกัน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา สว.ฉบับนี้มีการลงมติเห็นชอบจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีผลประโยชน์ขัดกัน อีกทั้งระหว่างการลงมติยังมีการเสียบบัตรแทนกัน นอกจากนั้นเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมยังขัดต่อรัฐธรรมนูญเอง เพราะในร่างระบุว่าหาตำแหน่ง สว.ว่างลงไม่ต้องดำเนินการสรรหา สว.ใหม่ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ 50 ที่บัญญัติให้สรรหาใหม่หากมีตำแหน่ง สว.ว่างลง
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า การพิจารณาลงมติวาระ 3 ในวันนี้ (28 ก.ย.) ยังพบว่าประธานรัฐสภาดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนเปิดให้มีการลงมตินางทัศนา บุญทอง สว.สรรหา ได้เสนอญัตติขอเลื่อนการลงมติวาระ 3 ออกไป โดยใช้สิทธิ์ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 32 (4) โดยมีสมาชิกในห้องประชุมยกมือให้การรับรอง แต่นายสมศักดิ์กลับไม่ยอมรับญัตติและเปิดให้มีการลงมติในวาระ 3 ถือว่าการลงมติในวาระ 3 ขัดต่อระเบียบข้อบังคับการประชุม และขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งทาง ปชป.พร้อมจะยื่นประเด็นนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมด้วย อย่างไรก็ตามเท่ากับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ชอบในกระบวนการตั้งแต่การพิจารณาในวาระ 1 ถึงวาระ 3
นายจุรินทร์ กล่าวย้ำว่า เมื่อฝ่ายค้านได้ยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาแล้ว ประธานรัฐสภาต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขฉบับนี้ และแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด โดยประธานรัฐสภาไม่มีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจเองว่าควรจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไรก็ตามอยากฝากไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการไม่บังควรหากจะยื่นทูลเกล้าฯ และนายกฯ เองในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ ยังสามารถขอเลื่อนญัตติการพิจารณาออกไปได้ แต่กลับไม่ทำ ดังนั้นขณะนี้ประธานรัฐสภาควรจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อไม่ให้เผือกร้อนตกอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีเอง