ผลสำรวจการประเมินผลงานรัฐบาลใน 7 ด้าน พบว่า ด้านภาพรวมการทำงานของรัฐบาล ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 64.4 ไม่ผ่าน ร้อยละ 35.6 ด้านการเมืองและประชาธิปไตย ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 59.4 ผ่าน ร้อยละ 40.6 ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 51.7 ไม่ผ่านร้อยละ 48.3 ด้านสังคม อาชญากรรม และยาเสพติด ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 52.2 ไม่ผ่าน ร้อยละ 47.8 ด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และภัยธรรมชาติ ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 52.5 ไม่ผ่าน ร้อยละ 47.5 ด้านการต่างประเทศ ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 73.3 ไม่ผ่าน ร้อยละ 26.7 ด้านการจัดการปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งได้คะแนนต่ำสุด ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 50.7 ไม่ผ่าน ร้อยละ 49.3
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเทียบกับการสำรวจ 2 ไตรมาสที่ผ่านมา จะพบว่า คะแนนการทำงานในแต่ละด้านลดลงเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และภัยธรรมชาติ ที่ลดลงอย่างมาก เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ผ่านมาและน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้น ส่วนด้านสังคม อาชญากรรมและยาเสพติด ก็มีคะแนนลดลงมากเช่นกัน เนื่องจากข่าวอาชญากรรมต่างๆ ที่ปรากฏในสื่อเพิ่มขึ้น ขณะที่ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดียังเป็นด้านที่ได้คะแนนต่ำ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงได้และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
เมื่อถามความคิดเห็นว่า หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่คนอีสานจะเลือกพรรคการเมืองใด พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.3 จะเลือกพรรคเพื่อไทย (ไตรมาส 1 ร้อยละ 55.0 และไตรมาส 2 ร้อยละ 48.0) และอีกร้อยละ 36.7 ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกพรรคใดในขณะนี้ (ไตรมาส 2 ร้อยละ 31.1) ส่วนผู้ที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ มีเพียงร้อยละ 8.9 (ไตรมาส 2 ร้อยละ 8.9) อีกร้อยละ 8.9 ตอบว่าจะไม่เลือกพรรคใด และร้อยละ 1.2 จะเลือกพรรคอื่นๆ
ในส่วนของการประเมินการทำงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล พบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานกว่าร้อยละ 69.8 ให้คะแนนว่าไม่ผ่าน (การประเมินครั้งก่อน ไม่ผ่านร้อยละ 63.6) โดยให้เหตุผล เช่น ค้านมากเกินไปหรือจับผิดรัฐบาลมากเกินไป ไม่มีผลงานที่ชัดเจน เป็นต้น ส่วนอีกร้อยละ 30.2 ที่ประเมินให้ผ่าน ให้เหตุผล เช่น เป็นการทำงานตามหน้าที่ฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาลได้ดี เป็นการตรวจสอบไม่ให้รัฐบาลคอรัปชั่น เป็นต้น
อนึ่ง อีสานโพล การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อการทำงานของรัฐบาลในด้านต่างๆ เพื่อเป็นเสียงสะท้อนให้รัฐบาลได้นำผลการประเมินและข้อเสนอแนะไปปรับปรุงมาตรการและนโยบายการทำงานได้อย่างเหมาะสม โดยการสำรวจจะมีขึ้นทุกไตรมาส โดยครั้งนี้เป็นการสำรวจไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28 ก.ย. — 3 ต.ค. 2556 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,310 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ