นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ชี้แจงว่า รัฐบาลจะติดตามการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างใกล้ชิด และประเมินผลอย่างละเอียด รวมถึงกำหนดให้เจ้าของโครงการรายงานผลเป็นระยะจนกว่าโครงการจะเสร็จสิ้น ส่วนความกังวลเรื่องภาระหนี้นั้นขอยืนยันว่าแม้จะมีการกู้เงินจำนวนดังกล่าว แต่สัดส่วนหนี้สาธารณะจะยังอยู่ในกรอบที่เหมาะสมไม่เกิน 50% เพื่อรักษากรอบวินัยด้านการคลัง และไม่กระทบต่อฐานะของประเทศ โดยหากเกิดเหตุฉุกเฉินด้านเศรษฐกิจก็สามารถกู้เงินเพิ่มเติมได้อีก 10% ของ GDP เพื่อนำมาแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาประเทศในภาพรวม ไว้รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
ด้านนายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ประธานกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา ได้รายงานผลการศึกษาของกรรมาธิการฯ ว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังขาดรายละเอียดเรื่องของการกู้เงินในบางโครงการ จึงขอให้รัฐบาลชี้แจงในบัญชีแนบท้าย ขณะเดียวกันตั้งข้อสังเกตุว่าการกู้เงินดังกล่าวควรศึกษาความพร้อมอย่างรอบด้านและดำเนินการเฉพาะโครงการที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง รวมทั้งต้องทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อนการดำเนินโครงการใดๆ
ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา กล่าวว่า การออกกฎหมายฉบับนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบการใช้งบประมาณ และโอนอำนาจการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติให้ฝ่ายบริหารถึง 7 ปีตลอดระยะเวลาในการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการซึ่งขัดต่อหลักการของประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง
หลังจากนั้น มีสมาชิกสลับกันอภิปรายโดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ แสดงความเป็นห่วงจากการออกกฎหมายฉบับนี้ เพราะปัญหาที่สำคัญคือเรื่องข้อกฎหมาย แม้รัฐมนตรีจะชี้แจงแล้ว แต่เป็นการกู้เงินนอกงบประมาณที่มีวงเงินใหญ่ที่สุด
ทั้งนี้ มีสมาชิกขออภิปรายจำนวน 63 คน คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 2 วัน คือ วันที่ 7-8 ต.ค.นี้ และหลังจากผ่านวาระที่ 1 แล้ว จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาเนื้อหาร่างกฎหมายฉบับนี้ ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้ง เพื่อลงมติในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไปตามกระบวนการ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวข้องกับการเงิน วุฒิสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วันตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 146 กำหนดไว้ นับตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.56