"เตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินในกรณีจำเป็นรีบด่วนหรือไม่ หากรัฐบาลไม่ปรับแก้ไขร่างฉบับนี้" นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่ม 40 ส.ว.กล่าว
เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 และมาตรา 170ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน เพราะรัฐบาลควรใช้เงินงบประมาณปกติมากกว่าการกู้เงินที่เป็นงบต่อเนื่องยาวนานถึง7 ปี ซึ่งอาจเกิดเปลี่ยนแปลงรายละเอียดได้โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา และอาจใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ส่งผลให้เกิดภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในอนาคต
นายคำนูณ ยังเห็นว่า การออกกฎหมายฉบับนี้เป็นการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบการใช้งบประมาณ และโอนอำนาจการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติให้ฝ่ายบริหารถึง 7 ปีตลอดระยะเวลาในการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการซึ่งขัดต่อหลักการของประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง
ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ได้แสดงความเป็นห่วงต่อการออกกฎหมายฉบับนี้ เพราะปัญหาที่สำคัญคือเรื่องข้อกฎหมาย แม้รัฐมนตรีจะชี้แจงแล้ว แต่เป็นการกู้เงินนอกงบประมาณที่มีวงเงินใหญ่ที่สุด
ขณะที่นายพีระ มานะทัศน์ ส.ว.ลำปาง ระบุว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลจะปรับปรุงระบบขนส่งของประเทศด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพราะระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทยเริ่มเสื่อมโทรมจนทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในความปลอดภัย ขณะเดียวกันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ อีกทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตมากขึ้น
นายประเสริฐ ชิตพงษ์ ส.ว.สงขลา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะทำรถไฟความเร็วสูงในขณะนี้ เพราะไม่ใช่เร่งด่วน จึงควรศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ เพื่อจัดทำแผนงานที่ชัดเจนจะได้ไม่เกิดภาระหนี้สิน พร้อมยกตัวอย่างโครงการรถไฟ Express way แอร์พอร์ตลิ้งค์สายสีแดง หรือสายด่วนพิเศษ ที่มีประสบภาวะขาดทุน ผู้โดยสารใช้บริการน้อย ซึ่งหากรัฐบาลเร่งเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงก็กังวลว่าอาจจะขาดทุนเช่นเดียวกัน
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เสนอให้ตัดลดงบที่จะใช้ 2 ล้านล้านบาทลง และตัดโครงการที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนออกไป โดยอาจดำเนินการเพียงรถไฟรางคู่ มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท เพื่อลดต้นทุนการพัฒนา แต่ก็สามารถเชื่อมโยงประชาคมอาเซียนได้