สำหรับประเด็นด้านเศรษฐกิจมีการสรุปจากรายงานเบื้องต้นทั้งหมด คือ การจัดการทรัพยากร อาทิ ที่ดิน ป่าไม้ ทะเลและชายฝั่ง ส่วนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และลดความเลื่อมล้ำ จะหารือในเรื่องระบบภาษี รายได้ พลังงาน การเกษตร และความปลอดภัยด้านอาหาร
นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ประสานงานเวทีปฏิรูปหาทางออกประเทศไทย กล่าวในการประชุมคณะทำงานด้านเศรษฐกิจว่า จะทำงานต่อไปเพราะอยากให้เกิดความเรียบร้อยและสำเร็จ ถึงแม้อีก 5 ปีไม่สำเร็จได้สักส่วนหนึ่งหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ครึ่งทางก็ยังดี ต้องมีอะไรออกมาบ้างตามเป้าหมาย 7 ข้อที่เห็นร่วมกัน
"แต่ทั้งหมดนี้ต้องขอให้รองนายกรัฐมนตรีพงศ์เทพฯ และรัฐมนตรีวราเทพฯ เรียนไปถึงนายกรัฐมนตรีด้วยว่ารัฐบาลจะต้องเข้ามาร่วมด้วย ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยไม่สำเร็จอย่างแน่นอน เพราะจุดสุดท้ายคือปลายน้ำเมื่อได้ข้อมูลแล้วรัฐบาลต้องรับไป ข้อไหนทำได้ข้อไหนทำไม่ได้ เป็นสิ่งที่สำคัญ...หากผลการหารือของคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองออกมาว่าเป็นรูปแบบใด ผมจะเดินทางไปอีกรอบหนึ่ง ต้องพยายาม ซึ่งผมพูดกับอดีตนายกรัฐมนตรีชวนฯ ว่า I will try คือพยายามที่จะทำให้ได้ถึงที่สุด"นาย
นายบรรหาร ได้ชี้แจงที่ประชุมถึงข้อสรุปการเชิญบุคคลต่าง ๆ เข้าร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วย นายอานันท์ ปันยารชุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานสาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายอานันท์ระบุว่ายังไม่สามารถเข้าร่วมปฏิรูปได้เนื่องจากเห็นว่ามีบางเรื่องที่รัฐบาลไม่ควรทำ เช่น เรื่องของกฎหมายนิรโทษกรรม การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่นายอานันท์ยืนยันว่าไม่ใช่ไม่รับเชิญ แต่ขอให้ได้มีการจัดรูปโครงสร้างทั้งหมดให้ออกมาให้เห็นชัดก่อน แล้วจะเข้าร่วมประชุมด้วย
ส่วนการพบกับนายอภิสิทธิ์ ข้อสรุปคือให้รัฐบาลถอนกฎหมายนิรโทษกรรมและร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญออกไปก่อน จึงจะพิจารณาว่าจะร่วมสภาปฏิรูปได้อย่างไร และการพบกับนายชวน ก็มีความเห็นคล้ายกัน ซึ่งสรุปว่าบุคคลทั้งสองจะไม่เข้าร่วม
นอกจากนั้น ยังไปพบกับนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ซึ่งระบุว่ายินดีที่จะร่วมเดินหน้าประสานความร่วมมือในรอบต่อไป หากสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าการปฏิรูปสามารถเกิดขึ้นได้จริง โดยมีการเสนอสูตรสามเหลี่ยมภูเขาเขยื้อนที่ยอดแหลมนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นประธานสภาปฏิรูป ซึ่งนพ.ประเวศรับจะดำเนินการในภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ส่วนอีกด้านเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปทั้งหมด
ขณะที่การพบกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างเป็นกันเอง จากการหารือมีข้อแม้ 5-6 ข้อสรุปได้ว่าทั้ง 2 คนไม่เห็นด้วยในการตั้งสภาปฏิรูป เพราะเห็นว่าอีก 5-10 ปี ก็ไม่มีทางสำเร็จ ซึ่งตนพยายามชี้แจงว่าต้องพยายามทำ เหมือนที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพเปิดเวทีให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ไม่มีขาดทุนมีแต่กำไรและเสมอตัว แม้ขณะนี้ทั้ง 2 คนไม่เข้าร่วมเวทีปฏิรูปแต่ตนเองก็ตั้งใจจะเดินทางพบในรอบที่ 2