โดยนายสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว.สมุทรสงคราม กล่าวว่า แผนงานและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสองและการศึกษาผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน(EHIA) ตามมาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งเกรงว่าหากรัฐบาลละเลยกระบวนการเหล่านี้อาจจะซ้ำรอยกับโครงการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญก่อนดำเนินโครงการ
"อยากทราบว่าแผนสำรองของรัฐบาลคืออะไร หากกฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าวุฒิสภาไม่โกหกตัวเองผมคิดว่าเรากำลังก่อหนี้ให้กับประเทศครั้งมหาศาล ที่สำคัญการกู้เงินเป็นการกระทำนอกระบบงบประมาณ แต่เวลาใช้หนี้จะต้องใช้งบประมาณแผ่นดินใช้หนี้ไปอีก 50 ปี ในอนาคตครั้งหน้าเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นแต่เรากลับใช้เงินไปจนหมดแล้ว" นายสุรจิต กล่าว
นายสุรจิต กล่าวว่า การทำโครงการลักษณะนี้ประโยชน์จะตกอยู่กับกลุ่มทุนมากกว่าเพราะราคาที่ดินจะเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่า เช่น โครงการสร้างมอเตอร์เวย์เพื่อเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือน้ำลึกเมืองทวายกับท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนว่าผลประโยชน์จะตกอยู่กับกลุ่มทุนของไทยและต่างประเทศที่ได้ลงทุนเอาไว้ ตรงนี้เองมีความสงสัยว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือชุมชนอย่างไรหากเกิดอุบัติเหตุระหว่างขนส่งเคมีที่ใช้ในระบบอุตสาหกรรม
ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้หมายความว่าจะอนุมัติโครงการได้เลย เพราะทุกโครงการต้องดำเนินการตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทุกประการ เท่ากับว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงหรือรถไฟรางคู่จะต้องผ่านการทำอีเอชไอเอก่อน และถ้าโครงการทำ EHIA ไม่ผ่านโครงการนั้นก็ไม่สามารถทำต่อไปได้