อย่างไรก็ดี นายสามารถ ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น พร้อมกับให้สมาชิกลงมติออกเสียง ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่ลงมติเห็นด้วยว่าควรคงไว้ตามหลักการและเหตุผลของร่างที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบมาก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาหลักการและเหตุผลเสร็จสิ้นแล้ว กรรมาธิการได้เริ่มพิจารณาเป็นรายมาตรา โดยที่ประชุมได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในมาตรา 3 เรื่องกรอบเวลาที่จะใช้กำหนดการนิรโทษกรรมและบุคคลที่จะได้รับการนิรโทษกรรมในเหตุการณ์ทางการเมือง โดยกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรกำหนดกรอบเวลาตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.49-10 พ.ค.53 ซึ่งผู้ที่เข้าข่ายที่จะได้รับการนิรโทษกรรมจะต้องเป็นผู้ที่กระทำความผิดในการแสดงออกทางการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว
ขณะที่กรรมาธิการฯฝ่ายค้าน เห็นว่าไม่ควรเลือกช่วงเวลาการนิรโทษกรรมตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.49 เนื่องจากมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งเงื่อนไขที่จะได้รับการนิรโทษกรรมคลุมเครือและกว้างเกินไป เนื่องจากคดีแต่ละคดีมีความแตกต่างกัน หากยึดตามหลักของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ผู้ที่กระทำความผิดทางอาญาจะได้รับประโยชน์ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควร