นิด้าโพลล์ชี้"พานทองแท้'ไม่เหมาะลงส.ส.หวั่นเอื้อประโยชน์ธุรกิจครอบครัว

ข่าวการเมือง Saturday October 12, 2013 18:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผย ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ที่มา ของ ส.ส." สำรวจระหว่างวันที่ 9 — 10 ตุลาคม 2556 กรณีศึกษาจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,248 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ เกี่ยวกับคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และการสืบทอดอำนาจและตำแหน่งทางการเมืองแบบระบบเครือญาติ โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4

เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพิจารณาคัดเลือกคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคการเมืองในความเป็นจริงทุกวันนี้ พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ร้อยละ 30.93 ระบุว่า พิจารณาจากคุณวุฒิ/วัยวุฒิ ความรู้ ความสามารถ รองลงมา ร้อยละ 28.61 ระบุว่า เป็นคะแนนความนิยมในพื้นที่ ร้อยละ 11.06 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับความพอใจของกลุ่มทุนในพรรค ร้อยละ 9.13 ระบุว่า เป็นระบบเครือญาติ ร้อยละ 8.25 ระบุว่า จากการสนับสนุนเงินทุนให้กับพรรคจากผู้สมัคร ร้อยละ 7.45 ระบุว่า สถานะทางเศรษฐกิจของตัวผู้สมัคร และร้อยละ 0.40 ระบุว่า อื่น ๆ เช่น คุณธรรมจริยธรรม ความตั้งใจในการทำงาน เอาใจใส่และเข้าถึงประชาชน

เมื่อถามว่าผู้สมัคร ส.ส. ควรมาจากอาชีพใด พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 20.59 ระบุว่า ควรมาจากอาชีพนักการเมืองท้องถิ่น รองลงมา ร้อยละ 18.59 ระบุว่า เป็นอาชีพใดก็ได้ ขอให้เป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 14.26 ระบุว่า เป็นเจ้าของกิจการ เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่/นักธุรกิจ ร้อยละ 13.54 ระบุว่า เป็นนักวิชาการ ร้อยละ 10.74 ระบุว่า เป็นข้าราชการประจำ (ครู อาจารย์ ทหาร เจ้าหน้าที่ของรัฐ) ร้อยละ 6.01 ระบุว่า เป็นเกษตรกร/ ประมง ร้อยละ 3.29 ระบุว่า เป็นเจ้าของกิจการ เจ้าของธุรกิจขนาดกลาง/เล็ก/ธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 3.04 ระบุว่า เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ร้อยละ 4.97 ระบุว่า เป็น อาชีพอื่น ๆ เช่น ข้าราชการบำนาญ แพทย์ หมอ พยาบาลนักกฎหมาย/ทนายความ ดารา นักแสดง พนักงานบริษัทเอกชน ลูกจ้าง/ผู้ใช้แรงงาน

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมในการสืบทอดอำนาจทางการเมืองแบบระบบเครือญาติ พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.32 ระบุว่า ไม่เหมาะสม เพราะ เป็นการกีดกันความสามารถของคนอื่น ๆ ทำให้ได้คนที่ไม่มีประสิทธิเข้ามาบริหารงาน และยังเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้แก่กัน ควรดูที่ความรู้ ความสามารถมากกว่า รองลงมา ร้อยละ 17.95 ระบุว่า เหมาะสม เพราะ ทำให้การทำงานและการประสานง่าย มีความคล่องตัวมากขึ้น และบริหารงานได้อย่างต่อเนื่อง และร้อยละ 8.73 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมหากนายพานทองแท้ ชินวัตร ลงสมัครเป็น ส.ส. พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.51 ระบุว่า ไม่เหมาะสม เพราะ เป็นบุตรของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่ยังหลบหนีคดีและ มีความผิดอยู่ หากมีโอกาสเข้ามาเล่นการเมือง อาจทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการทำงาน เช่น การเอื้อผลประโยชน์ให้กับธุรกิจครอบครัวหรือการช่วยเหลือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร รองลงมา ร้อยละ 31.41 ระบุว่า เหมาะสม เพราะ ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถทำได้ และยังเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง มีประสบการณ์การบริหารงานอยู่แล้ว น่าจะสามารถทำงานได้ดี และร้อยละ 27.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ