ขณะที่ 69.72% ชอบฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยที่มาจากเอกชน/องค์กรอิสระ เพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่เข้าข้างใคร ไม่ถูกชี้นำทางความคิด ประชาชนอีก 59.15% ชอบฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยที่มาจากข้าราชการ เพราะเป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายที่ได้รับมอบหมาย รู้และเข้าใจปัญหาการเมืองดี และ 53.52% ชอบฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยที่มาจากนักการเมือง เพราะมีรูปแบบ ลีลาการวิพากษ์วิจารณ์ที่น่าสนใจ สร้างสีสันได้ดี
ส่วนแนวทางที่ประชาชนส่วนใหญ่ 30.41% คิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ คือ การวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ เน้นเนื้อหาสาระและข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ รองลงมา 25.15% คือ ต้องเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช้ความคิดเห็นของตนเองเป็นหลัก ตามด้วย 20.47% คือ ต้องคำนึงถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ และไม่สร้างความวุ่นวายให้กับสังคม
ขณะที่ 17.54% คือ ควรให้คำแนะนำ ชี้แนะแนวทางวิธีการแก้ไขหรือทางออกที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และอีก 6.43% คือ ต้องมีสติ ใช้เหตุผล มีวิจารณญาณในการรับฟังข้อมูลข่าวสาร ไม่ด่วนสรุป
ทั้งนี้ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,136 คน ระหว่างวันที่ 15-18 ตุลาคม 2556