"ก็น่าจะขัดหลักการ เพราะที่ผ่านวาระแรกมาไม่ได้มีการขอยกเลิกคดี...อาจเป็นแค่การโยนหินถามทางก็ได้ ถ้ามีแรงต่อต้านมากๆ ก็เลิก เพราะยังอยู่แค่ในชั้นกรรมาธิการฯ เท่านั้น ยังไม่ผ่านวาระสอง" นายสุขุม กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ หากเนื้อหาในมาตรา 3 ไม่ได้เป็นไปตามร่างเดิมที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ได้เสนอมาแล้วคณะกรรมาธิการฯ นำเสนอกลับเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาในวาระ 2 ก็คงต้องมีเสียงคัดค้านอย่างแน่นอน และหากถึงที่สุดก็คงนำเรื่องไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
"ในการพิจารณาวาระแรก ฝ่ายเสนอยืนยันมาตลอดว่าแค่นั้น(นิรโทษกรรรมเฉพาะประชาชนที่เกี่ยวข้อง) มันเหมือนหลอกกัน เพราะสิ่งที่ฝ่ายค้านได้แสดงความห่วงใยและทักท้วงไว้ก่อนหน้านี้กลายเป็นจริงขึ้นมา" นายสุขุม กล่าว
นายสุขุม กล่าวว่า กรณีดังกล่าวอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นปลุกระดมมวลชนให้ลุกขึ้นคัดค้านได้ แต่หากสามารถหาทางออกในเรื่องนี้ได้ก็ไม่น่าจะปลุกระดมมวลชนให้ออกมาร่วมชุมนุมคัดค้านได้มากนัก
ด้านนายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติวิธีและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รู้สึกตกใจที่คณะกรรมาธิการฯ มีมติออกมาเช่นนั้น เพราะก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยออกข่าวว่าจะนิรโทษกรรมฝ่ายประชาชนทั่วไปก่อน แต่เมื่อคิดที่จะเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญเช่นนี้ก็ควรที่จะทำความเข้าใจและรับฟังเสียงจากสาธารณชนก่อนว่ามีความคิดเห็นอย่างไร
"รู้สึกตกใจที่จู่ๆ จะนิรโทษกรรมแบบสุดซอย ถ้าจะทำอย่างนี้ก็ต้องอธิบายให้สาธารณชนตั้งหลักได้ก่อนว่าจะคิดเห็นอย่างไร ไม่ใช่บอกจะไปทางซ้ายแล้วหักเลี้ยวขวา อย่างนี้คนก็สับสนกันหมด" นายโคทม กล่าว
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติวิธีและพัฒนาสันติวิธี กล่าวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ควรเร่งรีบพิจารณาเรื่องนี้ ควรที่จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายก่อน เพราะขณะนี้ก็มีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยส่งสัญญาณที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านแล้ว
ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยก็ใช้วิธีการโยนหินถามมาตลอด อย่างกรณีที่เสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และก็รู้ดีว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งความจริงแล้วหากจะทำอะไรก็ควรที่จะบอกประชาชนให้ชัดเจน
"ตอนที่พิจารณาวาระแรกก็บอกประชาชนว่านิรโทษกรรมแค่ต้นซอยไม่ถึงปลายซอย ก็เห็นกันอยู่แล้วว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ แต่ไปๆมาๆมันมีอะไรจริงๆ" นายโคทม กล่าว
ล่าสุด นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยืนยันจะไม่ทบทวนเนื้อหาที่ได้มีมติในประเด็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจากองค์กรที่ตั้งขึ้นมาจากคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 แต่จะมีการแก้ไขหรือไม่ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และหากจะมี ส.ส.ยื่นเรื่องในประเด็นดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประเด็นดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ถือเป็นสิทธิที่จะดำเนินการได้
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ คาดว่า จะส่งรายงานการพิจารณาให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร บรรจุในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระที่ 2 และ 3 ช่วงต้นเดือน พ.ย.นี้ พร้อมกันนี้ยังยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะไม่ได้เงิน 4.6 หมื่นล้านบาทที่ถูกศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ยึดทรัพย์คืน เพราะร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ไม่ใช่กฎหมายการเงิน ดังนั้นขอบข่ายของกฎหมายจึงไม่ครอบคลุมถึงการคืนเงิน