"ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 57.91 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะควรดำเนินการตามกฎหมาย ทำให้กฎหมายบ้านเมืองหละหลวม ขาดการบังคับใช้ที่ไม่จริงจัง ใครผิดก็ว่ากันไปตามผิด และอาจกลายเป็นบรรทัดฐานในทางที่ไม่ถูกต้องในสังคม เกิดปัญหาความขัดแย้งกัน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ขณะที่ประชาชนร้อยละ 29.07 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะทุกๆ ฝ่ายจะได้รับความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นแกนนำหรือผู้สั่งการ และจะได้ไม่ต้องมีเรื่องขัดแย้ง ปัญหาความขัดแย้ง ความวุ่นวายต่างๆ ก็จะยุติลง ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 13.02 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 65.89 ยังไม่เห็นด้วยหาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านความเห็นชอบแล้วมีผลทำให้การยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทเป็นโมฆะ และรัฐบาลจำเป็นต้องคืนเงินดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิด และเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยมิชอบ ซึ่งได้ดำเนินคดีตามกฎหมายไปแล้ว อาจมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยออกมาประท้วง เกิดความขัดแย้งความวุ่นวายตามมา มีประชาชนเพียงร้อยละ 20.05 ที่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีความผิด และเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยสุจริตจึงควรที่จะคืนทรัพย์สินให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 14.06 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
และประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 55.83 เชื่อว่า เมื่อมีการนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสภาฯ ในวาระ 2 จำนวนผู้ชุมนุมประท้วงมีมากขึ้น และมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่อย่างรุนแรง รองลงมาร้อยละ 11.10 เชื่อว่าจะไม่มีความวุ่นวายใดๆ ทางการเมืองเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ตามด้วยร้อยละ 6.07 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีอาจยุบสภา, ร้อยละ 5.43 ระบุว่า พรรคเพื่อไทยยอมแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้ครอบคลุมเฉพาะประชาชนผู้ชุมนุมทางการเมืองแต่ไม่รวมแกนนำ, ร้อยละ 4.79 ระบุว่า พรรคเพื่อไทยยอมถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกจากการพิจารณา, ร้อยละ 3.12 ระบุว่า อาจเกิดการรัฐประหาร, ร้อยละ 0.96 ระบุว่า อาจมีการชุมนุมประท้วงกัน แต่อาจจะไม่รุนแรง และร้อยละ 12.70 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
"ผลสำรวจแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแบบล้างความผิดและล้างโทษแบบสุดซอย ไม่เห็นด้วยกับการคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดจากการทุจริต และเชื่อว่าหากพรรคเพื่อไทยผลักดันร่าง พ.ร.บ.จนผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไปได้ จะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" นายพิชาย รัตนดิกล ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าว
นายพิชาย กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงยึดหลักนิติรัฐนิติธรรม เพราะพวกเขาเชื่อในหลักการที่คนกระทำความผิดควรจะได้รับโทษ รวมทั้งยังแสดงอย่างมีนัยถึงการไม่ยินยอมที่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติล้มล้างอำนาจศาล เพราะว่าเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ที่ผ่านกรรมาธิการฉบับนี้จะลบล้างอำนาจศาลด้วยการล้างโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย เมื่ออำนาจศาลถูกล้มล้างสังคมก็จะไม่มีหลักนิติรัฐใดๆให้ยึดต่อไปอีก คงเหลือแต่เพียงหลักเสียงข้างมากซึ่งถูกผลักดันโดยความปรารถนาแห่งผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น
สำหรับผลพวงของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ซึ่งจะทำให้ต้องคืนทรัพย์สินของรัฐแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น แม้นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลจะพยายามกลบเกลื่อนว่าไม่มีผล แต่ไม่อาจหลอกหรือตบตาประชาชนได้ ดังนั้นพวกเขาจึงยืนยันว่ารัฐไม่ควรจัดสรรทรัพย์สินของรัฐแก่ใครทั้งสิ้น แต่หากร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านไปได้หมายถึงคนไทยทุกคนจะต้องจ่ายเงินแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้
"หากร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านสภาไปได้ ประชาชนส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าจะเกิดความขัดแย้งและรุนแรงทางการเมืองอย่างแน่นอน ขณะนี้สัญญาณของความรุนแรงก็เริ่มปรากฎขึ้น แม้กระทั่งในฝ่ายมวลชนเสื้อแดงเองก็แสดงปฏิกิริยาต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นี้อย่างกว้างขวางทั้งในเครือข่ายสังคมและการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบอื่นๆ" นายพิชาย กล่าว
ทั้งนี้ นิด้าโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พ.ร.บ. นิรโทษกรรมกับความวุ่นวายทางการเมือง" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21-22 ตุลาคม 2556 จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,252 หน่วยตัวอย่าง