"ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาแนวทางการพัฒนาย่านถนนเพลินจิต-วิทยุ-พระรามที่4-ราชดำริ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นการประกอบกิจการโรงแรม สำนักงาน และบริเวณโดยรอบเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของสถานทูตประเทศที่สำคัญๆ และสถานศึกษาหลายแห่งอีกด้วย การเข้าถึงพื้นที่ ประกอบด้วยถนนสายหลัก คือ ถนนเพลินจิต ถนนวิทยุ ถนนพระรามที่ 4 และถนนราชดำริ โดยมีถนนสายรองด้านใน 3 สาย คือ ถนนสารสิน ซ.หลังสวน และซ.ต้นสน และมีสถานีรถไฟฟ้าตั้งอยู่ในพื้นที่หลายสถานีด้วยกัน สำหรับแหล่งดึงดูดด้านการท่องเที่ยวหลักๆ ได้แก่ ศาลพระพรหมเอราวัณ ศาลเทพเจ้าสำคัญต่างๆ ห้างสรรพสินค้า และพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง" นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมหานครแห่งโอกาสของทุกคน(ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์)
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การทำย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน หรือผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวนอกจากการพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่แล้ว ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย อาทิ ด้านผังเมือง การปรับภูมิทัศน์ ด้านคมนาคม การเข้าถึงของระบบขนส่งสาธารณะ ด้านสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงสวนสาธารณะและสภาพแวดล้อมในพื้นที่ และด้านสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ ด้วยการปรับปรุงระบบระบายน้ำ การพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่
ที่ประชุมฯ ยังเห็นว่าพื้นที่ของสวนลุมพินีเป็นอีกจุดหนึ่งที่ควรให้ความสนใจ โดยต้องขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันออกแบบเพื่อทำให้สวนลุมพินีเป็นสวนที่สวยที่สุดและดีที่สุดในโลก โดยมีแนวคิดที่จะทำให้พื้นที่ใกล้เคียงให้เป็น ART Area ด้วย ซึ่งจะต้องหารือกับคณะกรรมการและศิลปินที่มีชื่อเสียงถึงแนวคิดการทำถนน ART Area ในรายละเอียดต่อไป
"ที่ประชุมฯ เล็งเห็นความสำคัญของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือ AEC ในอนาคต โดยเห็นว่าการพัฒนาทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นจะต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการทำให้กรุงเทพมหานครเป็น HUB ของประเทศในกลุ่มอาเซียน หรือการทำให้กรุงเทพมหานครเป็น AEC District ให้ได้" นายเชวง กล่าว
โดยเบื้องต้น กทม.จะได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาสังคมจัดการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร เกี่ยวกับการจัดทำป้ายโฆษณา ป้ายชื่ออาหารให้เป็นภาษาต่างๆ โดยอาหารแต่ละประเภทจะมีชื่อเรียกเดียวกัน เพื่อป้องกันการสับสนในชื่ออาหารระหว่างชาวต่างชาติและผู้ประกอบการอาหารเอง