"เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีบางฝ่ายไม่เห็นด้วย แต่ก็จะยึดหลักการให้อภัยกัน เพื่อให้เกิดความปรองดอง และทุกขั้นตอนดำเนินการถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ โดยยึดหลักการการให้อภัย ที่ต้องนิรโทษทุกฝ่าย และยึดหลักรัฐธรรมนูญว่าด้วยความเสมอภาค" นายสามารถ กล่าว
นายสามารถ กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายยอมถอยคนละก้าว และตั้งสติเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ มากกว่าที่จะมาทะเลาะกันซึ่งก็เป็นห่วง หากทุกฝ่ายปล่อยให้เกิดการเผชิญหน้ากันจะทำให้ไม่สามารถรักษาประชาธิปไตยไว้ได้
ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย กล่าวว่า ร่างที่นายประยุทธ์เสนอถือเป็นฉบับสุดซอย อาจจะกระทบต่อรัฐธรรมนูญ และกระทบสิทธิมนุษยชน โดยรัฐมีอำนาจออกกฎหมายนิรโทษกรรมในคดีอาญาและทุจริตคอรัปชั่น รวมไปถึงล้มล้างคดีของ คตส. ซึ่งจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หลุดคดีและได้รับเงินที่ถูกริบคืน รวมทั้งอาจเรียกดอกเบี้ยคืนได้ด้วย ดังนั้นหากไม่ต้องการให้เกิดการต่อต้านหรือคัดค้าน โดยเฉพาะมีการชุมนุมหรือการเมืองนอกถนนก็ต้องตัดมาตราดังกล่าวออก และเขียนให้ชัดเจนว่าจะนิรโทษกรรมให้บุคคลใดบ้าง
"ผมขอถามกลับไปว่ากล้ายืนยันความสุจริตใจด้วยการยกเลิกความที่เพิ่มเติมหรือไม่ และถ้าจะให้ดีต้องตัดคำที่เพิ่มเติมนั้นออก และฝากไปยังคณาอาจารย์คณะนิติศาสตร์ในประเทศไทย หากรู้ความจริงแบบนี้แล้วยังไม่รู้สึกอะไรก็ควรเลิกสอนกฎหมายร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นการทำให้คนที่กระทำผิดพ้นโทษ ทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย ส่วนใครจะเล่นเกมทางการเมืองอะไรผมไม่สนใจ เพียงแต่อย่าทำให้บ้านเมืองประชาชนเสียหาย" นายแก้วสรร กล่าว
ขณะที่ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีใบสั่งทางการเมือง ซึ่งตนเองเคารพการตัดสินใจของกรรมาธิการฯ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษแบบเหมาเข่ง โดยต้องแยกแยะความผิดให้ชัดเจน ซึ่งกฎหมายนิรโทษนี้อาจทำให้ผู้ที่สั่งการหลุดคดี ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่นายประยุทธ์เสนออาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 จึงไม่ควรเขียนกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ อาจทำให้กฎหมายนี้เป็นโมฆะได้ และถ้าอยากให้อดีตนายกรัฐมนตรีสามารถเดินทางกลับประเทศได้ก็ต้องยกเลิกมาตรา 309
ส่วนนายนิพิษฐ์ อินทรสมบัติ กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้หากมีการบังคับใช้จะต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายการเงิน เนื่องจากครอบคลุมเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2547 ที่มีการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท และต้องส่งเรื่องไปยังกระทรวงการคลังเพื่อคืนเงินดังกล่าว ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบกับผลที่ตามมา หากยังเดินหน้าต่อไปจนทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ขณะเดียวกันได้ยืนยันที่จะนำมวลชนออกมาต่อต้านทันที หากร่างกฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาฯ ในวาระ 3