"ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.0 ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้กับแกนนำ/ผู้นำการชุมนุม เช่นเดียวกับการนิรโทษกรรมให้กับนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 62.7 ระบุว่าไม่เห็นด้วย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 45.4 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ร่วมชุมนุม แต่ประชาชนอีกร้อยละ 34.2 กลับไม่เห็นด้วย และโดยรวมแล้วประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 55.1 ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม มีประชาชนเพียงร้อยละ 28.2 เท่านั้นที่เห็นด้วย
ขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 55.3 เห็นว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจ/นักการเมืองบางกลุ่มเท่านั้น มีประชาชนเพียงร้อยละ 28.7 ที่เห็นว่าทำเพื่อความปรองดองของคนในชาติ
สำหรับทิศทางการเมืองไทย หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านวาระที่ 3 และนำมาประกาศใช้จริง ร้อยละ 41.3 เชื่อว่า อาจเกิดการชุมนุมต่อต้านขยายในวงกว้าง รองลงมาร้อยละ 15.1 เชื่อว่าทำให้ประชาชนสงบสุข ปรองดอง และร้อยละ 14.3 เชื่อว่าจะช่วยลดความตรึงเครียดทางการเมืองและสังคมลงได้
ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 46.8 เชื่อว่าการชุมนุมคัดค้านการออก พ.ร.บ นิรโทษกรรม ที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์จะไม่สามารถยับยั้งการออกกฎหมายฉบับนี้ได้ มีประชาชนเพียงร้อยละ 11.6 เท่านั้นที่คิดว่ายับยั้งได้
ส่วนกลิ่นอายของระดับความรุนแรงที่ประชาชนรู้สึกได้เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ประกาศชัดที่จะนำการชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มากสุดร้อยละ 26.4 คือ การปิดถนนและยกระดับการชุมนุม เคลื่อนขบวนไปที่ต่างๆ รองลงมาร้อยละ 24.4 คือ การปิดถนน มีคนมาร่วมชุมนุมเยอะ และยืดเยื้อกินเวลานาน และร้อยละ 15.0 คือ การชุมนุมจะรุนแรงถึงขั้นต้องใช้กำลังเพื่อสลายการชุมนุม
สำหรับระดับความขัดแย้งทางความคิดด้านการเมืองของคนในสังคมไทยปัจจุบันพบว่า ร้อยละ 50.4 เชื่อว่ามีความขัดแย้งอยู่ในระดับมาก รองลงมาร้อยละ 24.9 มีความขัดแย้งในระดับปานกลาง และร้อยละ 21.8 มีความขัดแย้งในระดับมากที่สุด และมีเพียงร้อยละ 1.8 และ 1.1 เท่านั้นที่ระบุว่ามีความขัดแย้งอยู่ในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด
ทั้งนี้ กรุงเทพโพลล์สำรวจความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวจากประชาชนกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน(Multi-Stage Sampling) จากนั้นใช้วิธีเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบพบตัวจำนวน 1,195 คน ระหว่างวันที่ 21-23 ตุลาคมที่ผ่านมา