ขณะที่ กมธ.ฯ เสียงข้างน้อย อาทิ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงการคัดค้านต่อประธานที่เร่งรัดปิดการประชุม เนื่องจากขณะนี้ยังมีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยอีกหลายคนยังไม่ได้เสนอคำแปรญัตติแก้ไขถ้อยคำในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งประธานกรรมาธิการฯ ยืนยันว่า ที่ประชุมได้รับรองรายงานการประชุม และดำเนินการไปตามระเบียบขั้นตอน โดยให้ กมธ.ฯ เสียงข้างน้อยใช้สิทธิ์อภิปรายในวาระ 2
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้ถกเถียงถึงเนื้อหาในมาตรา 3 ซึ่ง กมธ.ฯ เสียงข้างน้อย ยังคงแสดงความกังวลถึงการปรับแก้ไขถ้อยคำในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่ยังไม่มีความชัดเจน โดยขอให้ระบุให้ชัดเจนว่าคณะบุคคล หรือองค์กรที่จัดตั้งภายหลังการรัฐประหาร ครอบคลุมฝ่ายใดบ้างที่จะล้มล้างคดีที่ได้ตัดสินไปแล้ว อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ด้วยหรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการออกกฎหมายไปบังคับใช้
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมฯ จะส่งเรื่องไปยังฝ่ายธุรการเพื่อตรวจสอบความถูกต้องในรายละเอียดของร่างดังกล่าว ก่อนส่งไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบรรจุระเบียบวาระการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป
หลังจากที่ประชุมฯ ได้ใช้เวลาในการพิจารณากว่า 2 ชั่วโมงก็ได้ลงมติเห็นด้วย 20 เสียง ไม่เห็นด้วย 7 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง ซึ่งนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการ กมธ.ฯ กล่าวว่า รายงานที่ กมธ.ฯ ให้การรับรอง ต้องมีการแก้ไขถ้อยคำและรอคำแปรญัตติจาก กมธ.ฯ ที่จะส่งมาเพิ่มเติม ซึ่งนายสามารถ คาดว่าจะส่งเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฏรพิจารณาในสัปดาห์นี้เพื่อบรรจุระเบียบวาระการพิจารณา วาระ 2 และ 3 ต่อไป
"ร่างกฎหมายฉบับนี้ยึดหลักไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย หรือสาระสำคัญต้องไม่ตกไป ขณะเดียวกันย้ำว่า กมธ.พิจารณาจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเป็นหลัก ไม่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล เช่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนสาเหตุที่ไม่บรรจุให้นิรโทษกรรมความผิดเรื่องหมิ่นสถาบันตามมาตรา 112 เพราะเห็นว่าไม่ควรนำสถาบันมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองของภาคประชาชน"นายสามารถ กล่าว