"ภาพรวมทั้งหมดมีความสอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เราจะเห็นภาพว่าสุดท้ายแล้วมีเงื่อนไขที่ชัดเจนขึ้นคือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและเขาพระวิหาร" พล.ท.ภราดร กล่าว
เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ยุทธวิธีที่กลุ่มผู้ชุมนุมดำเนินการอยู่คือการทำให้เจ้าหน้าที่ต้องกระจายกำลังไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นการทดสอบความพร้อมของเจ้าหน้าที่ด้วยว่ามีมากน้อยแค่ไหนหากกลุ่มผู้ชุมนุมออกมาเคลื่อนไหว โดยผู้ชุมนุมประกาศที่จะออกมาเคลื่อนไหวทันทีหากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 3 และคำวินิจฉัยของศาลโลกที่ส่งในทางลบต่อประเทศไทย
ส่วนกรณีที่มี ส.ส.และนักการเมืองท้องถิ่นออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น เลขาฯ สมช.กล่าวว่า คนที่เป็นตัวแทนประชาชนควรที่จะนำปัญหาหรือข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเสนอต่อภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน และเจ้าหน้าที่รัฐเองต้องพยายามชี้แจงกับประชาชนที่ยังวางตัวเป็นกลางให้มีความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
"สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจกับคนที่อยู่ตรงกลาง จะได้ไม่เกิดแรงจูงใจให้เข้ามาร่วมชุมนุม" พล.ท.ภราดร กล่าว
เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังสามารถควบคุมและดูแลสถานการณ์การชุมนุมให้อยุ่ในความสงบเรียบร้อยได้จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องขอกำลังสนับสนุนจากทหาร