DSI แยกสำนวนฟ้อง"อภิสิทธิ์-สุเทพ"ปมสั่งสลายม็อบ นปช.เป็นรายคดี

ข่าวการเมือง Tuesday October 29, 2013 12:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) กล่าวว่า หลังจากอัยการสูงสุดมีความเห็นให้สั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่งคง ในฐานะอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนา ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.53 แล้ว ทาง DSI จะแยกสำนวนการสั่งฟ้องตามที่รับเป็นเลขคดีก่อนหน้านี้ โดยไม่รวมเป็นกรรมเดียว เว้นแต่กรณีการเสียชีวิตและบาดเจ็บในสถานที่และเวลาเดียวกัน เช่น คดีการเสียชีวิตของกลุ่ม นปช.จำนวน 6 คนในพื้นที่วัดปทุมวนาราม ซึ่งมาจากคำสั่งของ ศอฉ.เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 1,000 คน และเสียชีวิต 89 คน

อธิบดี DSI กล่าวว่า อัยการสูงสุดมีความเห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองเป็นการกระทำเพียงกรรมเดียวแม้จะออกคำสั่งหลายครั้งในเวลาต่างกันและในพื้นที่ต่างกัน แต่เป็นการออกคำสั่งที่มีเจตนาเดียวกันคือเพื่อสลายการชุมนุม แต่ทางพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นว่า สมควรแยกสำนวนคดีทั้งข้อหาฆ่าคนตาย และข้อหาพยายามฆ่า เป็นรายคดีไป เว้นแต่กรณีที่เหตุการณ์เกิดในเวลาและสถานที่เดียวกันจึงจะรวมสำนวนเป็น 1 คดี โดยเฉพาะคดีพยายามฆ่า ซึ่งมีผู้เสียหายกว่า1,000 ราย จะต้องเคารพในสิทธิของผู้เสียหายที่ได้มาร้องทุกข์เป็นรายคดี ซึ่งการสั่งคดีของอัยการสูงสุดนี้อาจกระทบต่ออำนาจศาล เนื่องจากการไต่สวนของศาลบางรายยังไม่เสร็จสิ้น แม้อัยการจะฟ้องคดีกับผู้สั่งการหรือผู้ก่อเป็นกรรมเดียวกันแต่ก็ไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายที่ต้องการจะแยกฟ้องเป็นรายคดี ซึ่งจะต้องให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดต่อไป

ที่ผ่านมา DSI ได้ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพในคดีที่มีหลักฐานเชื่อว่าเป็นการเสียชีวิตเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติตามหน้าที่กลับไปให้พนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุแล้ว 52 ราย และศาลมีคำสั่งแล้ว 15 ราย และมีสำนวนการไต่สวนส่งกลับมายัง DSI จำนวน 13 ราย โดยทั้งหมดยังไม่รวมคดีข้อหาพยายามฆ่าคนตายซึ่งมีผู้เสียหายกว่า 1,000 คน

อธิบดี DSI กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารผู้ปฏิบัติ แม้จะมีพยานหลักฐานชัดเจน เนื่องจากได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 70 และความผิดเกิดจากการออกคำสั่งของ ศอฉ.ที่สั่งการให้มีการใช้กระสุนจริงควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม

อย่างไรก็ตาม หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีผลบังคับใช้ก็จะช่วยให้ผู้ต้องหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบในช่วงเวลาดังกล่าวได้รับผลประโยชน์ไม่ต้องรับโทษ แต่หากร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณา DSI ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ