"ในทางนิติรัฐ นิติธรรม การนิรโทษกรรมจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเป็นทางเลือกให้เกิดความสงบสุขของบ้านเมือง แต่การนิรโทษกรรมครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เพราะพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้นิรโทษกรรมคนที่คอรัปชั่นเข้าไปด้วย ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษา ขอยืนหยัดในหลักนิติธรรม โดยแสดงจุดยืนคัดค้านพ.ร.บ.ฉบับนี้ และอยากเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองดำเนินการให้กฎหมายฉบับนี้ตกไป เพื่อให้สังคมสงบอีกครั้ง" อธิการบดี มธ. กล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังมีปัญหาทั้งในเรื่องหลักการที่ถูกแปรญัตติเพิ่ม ซึ่งขัดกับเจตนารมย์ของกฎหมายในตอนแรก รวมถึงมีการตัดสิทธิเสรีภาพที่ไม่ให้ ส.ส.ได้อภิปราย ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญชัดเจน โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หวังว่าที่ประชุมวุฒิสภา(ส.ว.)จะเห็นประโยชน์ของประเทศด้วยการไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้ต่อต้านรัฐบาล แต่ต้องการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายเท่านั้น โดยในวันที่ 7 พ.ย. เวลา 09.00 น.จะมีการรวมตัวของศิษย์เก่า มธ.ที่ลานปรีดี พนมยงศ์ เพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และจะเคลื่อนขบวนต่อไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและในเวลา 13.00 น.นายณรงค์ ใจหาญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ.จะแถลงข่าวว่าเนื้อหาของ พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญอย่างไรบ้าง
ด้านน.ส.ฌาลิศา ธรรมวงค์ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)อ่านแถลงการณ์ร่วมของ อมธ.และสภานักศึกษามธ. โดยเนื้อหาระบุว่า 1.อมธ.และสภานักศึกษา มธ.เห็นความสำคัญของการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับประชาชนอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง แต่การนิรโทษกรรมจะต้องไม่ครอบคลุมถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง หรือการกระทำของแกนนำผู้ชุมนุม หรือการกระทำของบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้น หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49-10 พ.ค.54 รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อมา
2.การพิจารณาเรื่องดังกล่าว มีความไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยหลักการในร่าง พ.ร.บ.ในวาระที่ 3 ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม จนทำให้ขัดกับหลักการในร่าง พ.ร.บ.ที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการไว้ ซึ่งขัดกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฏร พ.ศ.2551 ข้อ 117 วรรค 3 ว่า คณะกรรมาธิการอาจเพิ่มมาตราใหม่หรือตัดทอนแก้ไขมาตราเดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่ง พ.ร.บ.การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจึงอาจมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
แถลงการณ์ดังกล่าว ยังเรียกร้องให้วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และให้สภาผู้แทนราษฎรยึดหลักการเดิม และการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมควรจะนิรโทษกรรมเฉพาะการกระทำของประชาชนในการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น เพื่อนำไปสู่ความปรองดองอย่างแท้จริง