โดยภาควิชาการ ภาคเอกชน และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นเห็นพ้องต้องกันทั้ง 3 ส่วน ซึ่งจะออกแถลงการณ์เพื่อร่วมแก้ไขปัญหานี้ โดยเวลา 15.00 น.วันนี้ ตนจะเป็นตัวแทนของ 3 ภาคส่วนไปยื่นหนังสือต่อวุฒิสภา แต่หากกระบวนการคัดค้านไม่ได้รับการพิจารณาจากวุฒิสภาก็จะมีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
"เรายังหวังว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราอยากให้ประชาชนร่วมกันลงนามในเว็บไซต์ให้ได้ 1 ล้านคน ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ 4 แสนคน หากกระบวนการนี้(พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) เรามองว่าประเทศไทยต้องเตรียมตัวไปสู่การล่มสลาย ซึ่งมันคงไม่มีสิ่งเหนี่ยวรั้งอีกต่อไป" นายประมนต์ กล่าว
ด้านนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.)ทั้ง 27 แห่ง มีความเห็นร่วมกันว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีเนื้อหาที่ไม่เพียงแต่ยกเว้นความผิดแก่การกระทำในทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการกระทำที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย เนื่องจากจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ใช่สิ่งผิดร้ายแรง และท้ายที่สุดก็สามารถหลุดพ้นจากความผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรม
ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมการกระทำผิดในเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น จะทำให้การต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทยในปัจจุบันไม่ประสบความสำเร็จ และจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่การกระทำในลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต
"เราไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และขอคัดค้าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย ซึ่งการเคลื่อนไหวยังไม่ได้กำหนดอะไรร่วมกัน แต่บ่าย 3 วันนี้ เราจะไปยื่นหนังสือต่อวุฒิสภาร่วมกับคุณประมนต์ และเราไม่ได้ปิดกั้นให้นักศึกษาเข้าร่วมชุมนุม เพราะถือเป็นสิทธิในการแสดงออก ซึ่งขณะนี้มีนักศึกษาจากจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มศว. นิด้า ร่วมออกมาต่อต้านแล้ว รวมทั้งไม่ปิดกั้นบุคลากรในมหาวิทยาลัย ซึ่งเราอยากให้ออกมาแสดงจุดยืนร่วมกัน เพื่อการพัฒนาประเทศ" นายสมคิด กล่าว