ทั้งนี้มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวโดยกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทั้งการปิดอภิปรายและการประชุมที่ไม่ครบองค์ประชุม มีการแก้ไขในลักษณะที่เพิ่มอำนาจและเปิดช่องให้ฝ่ายบริหารสามารถทำหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ส่งผลให้ในอนาคตรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารสามารถหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากรัฐสภา
นายวิรัตน์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ นำโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งมาจากพรรคพลังประชาชนมีแนวคิดที่ลดอำนาจการตรวจสอบของรัฐสภาและเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายบริหาร ซึ่งเคยมีมติ ครม.เมื่อปี 51 ให้ความเห็นชอบการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยนายพพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เป็นการยอมรับแผนที่กัมพูชา ซึ่งที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา เพราะฉะนั้นการแก้ไขจึงเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดน อีกทั้งยังน่าเป็นห่วงเพราะมีข่าวต่อเนื่องว่าผู้มีอำนาจตัวจริงในรัฐบาลพยายามที่จะเข้าไปลงทุนกิจการพลังงานในอ่าวไทยร่วมกับกัมพูชา และมาเลเซีย