"รัฐบาลไม่ได้รู้สึกหวั่นไหวกับจำนวนผู้ชุมนุม ยังคงเดินหน้าทำงานตามปกติ และไม่ห่วงว่าจะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล" พล.ต.อ.ประชา กล่าว
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่สามารถชุมนุมได้ รัฐบาลไม่ได้ขัดขวางการแสดงออก รวมถึงการดาวกระจายนั้นรัฐบาลได้อำนวยความสะดวกในเรื่องของเส้นทางเพื่อไม่ให้กระทบการจราจร แต่หากมีข้อร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบก็พร้อมที่จะรับฟัง ซึ่งรัฐบาลก็มีความเป็นห่วงในสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกกลุ่มรวมถึงประชาชนทั่วไป และอยากขอร้องผู้ชุมให้เคลื่อนไหวกระทบกับประชาชนโดยรวมน้อยที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของจราจร ทั้งนี้เชื่อว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีแกนนำที่มีประสบการณ์ดูแลอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหา
ส่วนการเดินหน้าพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้เพราะต้องเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
ด้านพล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) กล่าวถึงสถานการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ว่า ศอ.รส.ได้สั่งการให้ ตำรวจนครบาล 1-9 ลงพื้นที่กำกับดูแลการชุมนุม เนื่องจากมีมวลชนกระจายไปจุดต่างๆ บางกรณีแจ้งเป้าหมาย หรือพื้นที่ชุมนุม แต่บางจุดไม่แจ้ง จึงต้องเตรียมแผนเผชิญเหตุ, เน้นการจราจร, และดูแลความปลอดภัย พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว 9 ชุด ประกอบด้วย หน่วยจักรยานยนต์, รถยก, พร้อมลงพื้นที่ทันทีหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
สำหรับกำลังตำรวจ ชุดดูแลความสงบเรียบร้อย พื้นที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ยังคงใช้ จำนวน 44 กองร้อย และเตรียมกำลังระลอก 2 อีก จำนวน 40 กองร้อย ขณะเดียวกัน ได้เพิ่มกำลังตำรวจจราจรลงพื้นที่อีก 4,000 นาย โดยยังคงเน้นรักษาความปลอดภัยสถานที่สำคัญ และบ้านพักบุคคลสำคัญ ทำเนียบรัฐบาล, รัฐสภา และยืนยันว่า ศอ.รส. ไม่มีนโยบายการสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุม แต่การชุมนุมต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายไม่กระทบสิทธิ์ผู้อื่น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงการชุมนุมต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ปัญหาขณะนี้มีมาก ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าถูก อีกฝ่ายก็บอกว่าผิด แต่ทั้งหมดต้องมาคุยกันให้รู้เรื่อง อะไรที่เป็นปัญหาต้องหาทางคลี่คลายให้ได้โดยเร็ว ไม่เช่นนั้นจะขยายเพิ่มขึ้นคุมกันไม่อยู่ และเหตุการณ์ก็จะกลับมาเหมือนเก่า
“วันนี้ทั้งสองฝ่ายต้องหันกลับมามองผลประโยชน์ของชาติว่าอยู่ตรงไหน ซึ่งต่างก็เชื่อมั่นว่าตนเองถูก ก็ว่ากันไปแต่ต้องไปหาหนทางแก้ไขและคลี่คลายสถานการณ์ ไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย ปัญหาอยู่ที่ไหนทุกคนก็รู้อยู่ กองทัพเป็นห่วงตลอด โดยเฉพาะความปลอดภัยของประชาชนและความเสียหายที่เกิดต่อบ้านเมือง แต่กองทัพก็ต้องอยู่ในกรอบพอสมควร เพราะมีระเบียบวินัย และรักษากฎกติกา" ผบ.ทบ. กล่าว
"รู้สึกเป็นห่วง อยากให้ทุกฝ่ายหาทางลดปัญหาที่เกิดขึ้น ดูว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน หากต่างคนต่างพูดกันไปมา ปัญหาก็จะยิ่งบานปลาย...อยากให้ทุกฝ่ายมานั่งพูดคุยกัน ผมไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่การชุมนุมถือเป็นการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าผิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดี" ผบ.ทบ.กล่าว