(เพิ่มเติม) นายกฯ แถลงให้วุฒิสภาใช้ดุลพินิจอย่างเต็มที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ

ข่าวการเมือง Tuesday November 5, 2013 13:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงข่าวด่วน เสนอให้วุฒิสภาใช้ดุลพินิจอย่างเต็มที่พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ บนพื้นฐานความปรองดองเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้า โดยเชื่อว่าไม่ว่าผลการพิจารณาของวุฒิสภาจะออกมาเป็นอย่างไร ทั้งการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็จะยอมรับผลในครั้งนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตั้งแต่ที่รัฐบาลนี้ได้เข้ามาบริหารประเทศได้มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการจะสร้างความปรองดอง โดยยึดหลักนิติธรรมและต้องการเห็นกลไกอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยตั้งแต่อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการให้เป็นไปอย่างสมดุล ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน ซึ่งเจตนารมย์ของรัฐบาลต้องการเห็นความปรองดอง ความสมานฉันท์ของคนในชาติ จนเมื่อเร็วๆ นี้ได้นำเสนอแนวทางในการสร้างเวทีปฏิรูปทางการเมืองร่วมกับทุกฝ่ายรวมทั้งความคิดเห็นที่แตกต่าง และเป็ฯความคิดเห็นจากหลากหลาย ซึ่งเป็นหลายๆ กลไกที่หวังว่าจะช่วยสร้างความปรองดองสมานฉันท์ได้ แต่ขณะเดียวกันภายใต้กลไกที่สมดุลแห่งอำนาจประชาธิปไตย จะเห็นได้ว่าถ้า ส.ส.จะเสนอร่างกฎหมายต่างๆ หรือการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลก็ไม่ได้ก้าวก่ายกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติแต่อย่างใด

"ดิฉันโดนกล่าวหาว่าละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส.ด้วย ทั้งที่ความจริงแล้ว ดิฉันต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนที่สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการถกเถียงกันในปัจจุบันนั้น ข้อเท็จจริงแล้วหลายประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองถึงขั้นรุนแรง ก็มีการนิรโทษกรรมมาก่อน และเป็นบทเรียนที่ไทยต้องศึกษา หลักของนิรโทษกรรมก็เป็นทางออกทางหนึ่งที่ควรจะพิจารณา ถ้าหากทุกฝ่ายเรียนรู้ที่จะให้อภัยซึ่งกันและกันแล้ว เชื่อว่าความขัดแย้งจะลดลงและประเทศจะเดินหน้าต่อไปได้

แต่ที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง คือ จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้มีพี่น้องประชาชนนับร้อยสูญเสียชีวิต และอีกนับพันที่ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงที่มาจากความขัดแย้งจากความคิดในการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย

"ดังนั้นการนิรโทษกรรมไม่ได้หมายความว่าจะให้ลืมบทเรียนอันเจ็บปวด แต่ทุกคนต้องเรียนรู้และเข้าใจเพื่อไม่ให้ลูกหลานของเราต้องเผชิญเหตุการณ์เช่นนี้อีก และขณะเดียวกันเราต้องร่วมมือกันทำให้ประเทศเดินหน้าได้ เราจะมาติดหล่มจนประเทศชาติต้องอยู่ในวังวนของความขัดแย้งไม่ได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมระบุว่า หากจะให้บ้านเมืองสงบ การให้อภัยต้องปราศจากอคติ ไม่ใช้อารมณ์และใจกว้างให้ทุกฝ่ายของความขัดแย้งได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ทั้งนี้เข้าใจว่าทำได้ยากแต่เราต้องคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าความเจ็บปวดส่วนตัว

จนถึงวันนี้ พบว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเสร็จแล้วนั้น ได้มีการนำเสนอสู่การพิจารณาในชั้นของวุฒิสภา ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการตามกฎเกณฑ์ปกติในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และในความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างหนักจนทำให้เกิดข้อขัดแย้งของคนในชาติหลายกลุ่ม หลายสถาบัน หรือพรรคการเมือง และพี่น้องประชาชนในหลายพื่นที่

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่าง กม.ดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าคนไทยหลายกลุ่มยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และยังไม่พร้อมให้อภัย อีกทั้งยังมีท่าทีที่จะเป็นบ่อเกิดที่นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงไม่อยากเห็นการนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้เกิดข้อถกเถียงหรือให้ข้อมูลที่สับสน และถูกบิดเบือนโดยมีเจตนาที่จะล้มล้างรัฐบาล และระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง

การบิดเบือนนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายการเงิน หากเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องลงนาม ซึ่งดิฉันไม่เคยลงนามใดๆ เลย ที่สำคัญมีความพยายามที่จะบิดเบือนว่า กฎหมายจะกลบเกลื่อนการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งก็เป็นคนละประเด็นกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งพรบ.นี้เป็นกฎหมายที่ยกเลิกให้ผู้ที่ได้รับผลพวงจากทางการเมือง การรัฐประหารที่ไม่อยู่ในหลักของนิติธรรม รวมทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ารัฐบาลนี้จะทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และจะไม่ใช้เสียงข้างมากมาฝืนความรู้สึกของประชาชนเด็ดขาด เพราะรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของประชาชนทุกคน ย่อมต้องฟังทั้งเสียงที่สนับสนุนและเสียงที่คัดค้าน เป้าหมายของรัฐบาลชุดนี้ก็เพื่อต้องการสร้างความปรองดอง ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ภายใต้วิถีประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม โดยใช้เหตุและผลไม่ใช่การใช้อารณ์

ภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งที่ปะทุอยู่นี้ รัฐบาลเห็นว่าทุกฝ่ายน่าจะหยุดคิด หยุดกระทำที่จะสร้างความแตกแยกต่อไป ทั้งนี้ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถือว่าตามกระบวนการของกฎหมายยังอยู่ในขั้นตอนของวุฒิสภา

"ดังนั้นจึงขอเสนอให้วุฒิสภา โดยส.ว.ที่เป็นตัวแทนจากการแต่งตั้งและจากการเลือกตั้ง ทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล กรุณาใช้ดุลยพินิจอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ส.ว.นั้น ไม่มีใครก้าวก่ายได้ ให้ได้โปรดใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาโดยอาศัยพื้นฐานของความปรองดอง เมตตาธรรม กับผู้ที่เดือดร้อนและเจ็บปวดมาเป็นเวลานานให้ได้รับคามยุติธรรมอย่างเสมอภาค" นายกรัฐมนตรี ระบุ

สำหรับการพิจารณา พ.ร.บ.นี้มุ่งคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และไม่ว่าวุฒิสภาจะตัดสินอย่างไร จะไม่เห็นด้วยหรือยับยั้งกฎหมาย หรือจะแก้ไขก็ตาม เชื่อว่า ส.ส.ที่ได้ลงคะแนนผ่านร่างกฎหมายไปแล้วจะยอมรับการตัดสินใจด้วยเหตุ ด้วยผล เพื่อความปรองดองของคนในชาติ ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันเป็นเป้าหมายหลักที่ต้องช่วยกันรักษาไว้เพื่อสิทธิเสรีภาพของคนไทยทุกคน

สุดท้าย นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณฝ่ายนิติบัญญัติที่ได้ทำงานอย่างหนักในการสนับสนุนความปรองดองของชาติ ซึ่งทุกฝ่ายได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ เต็มกำลังสุดความสามารถเพื่อประเทศชาติ ขอใช้เวลาจากนี้ไปเป็นเวลาของคนไทยทุกคนที่จะร่วมกันคิด ตัดสินใจพิจารณาแนวทางด้วยความเป็นธรรม เข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่มีอคติ ไม่มีอารมณ์ ด้วยใจที่เปิดรับ เห็นอกเห็นใจกันอันเป็นพื้นฐานสำคัญของความปรองดองที่ประชาชนคนไทยต้องการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ