ที่สำคัญถ้อยแถลงครั้งนี้ของนายกฯ ไม่ได้มีท่าทีที่จะทบทวนหรือถอยแต่อย่างใด และยังยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือสู่การปรองดอง ให้อภัยกัน ไม่ใช่การฟอกผิดคนโกงอย่างที่สังคมกำลังเข้าใจ ซึ่งกลายเป็นว่าคนที่ออกมาคัดค้านเป็นพวกที่ไม่รู้จักให้อภัยและไม่อยากปรองดอง ดังนั้นอยากเรียกร้องให้กลุ่มพลังต่างๆ เดินหน้าคัดค้านอย่างเต็มที่ เพราะมีแต่พลังของภาคประชาชนเท่านั้นที่จะยับยั้งกฎหมายฟอกผิดคนโกงได้
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีแถลงเกี่ยวกับร่าง พรบ.นิรโทษกรรม โดยขอให้วุฒิสภาใช้ดุลพินิจอย่างเต็มที่ว่า การที่นายกฯ ออกมาแสดงท่าทีแบบนี้เท่ากับส่งสัญญาณเดินหน้า และท้าทายกระแสต่อต้านของคนไทยที่ออกมาคัดค้านทั่วประเทศ และแสดงให้เห็นว่าไม่รับผิดชอบต่อปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
ส่วนการที่นายกฯ บอกให้วุฒิสภาใช้ดุลพินิจอย่างเต็มที่นั้น ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า เมื่อพ้น 180 วันแล้ว สภาผู้แทนราษฎรซึ่งรัฐบาลครองเสียงข้างมากจะไม่หยิบยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมายืนยันเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในที่สุด
ขณะเดียวกันเห็นว่า การที่นายกฯ ออกมาระบุว่า ร่างพรบ.นิรโทษกรรม ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวข้องกับการเงิน ก็เป็นเพราะนายกรัฐมนตรีต้องการปัดความรับผิดชอบที่จะลงนามรับรองเท่านั้น