นายกฯ ลงพื้นที่นิคมมาบตาพุด ติดตามแผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจร

ข่าวการเมือง Wednesday November 6, 2013 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมคณะลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อติดตามแผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุด ระบุให้รวมแผนครบวงจรเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา ย้ำให้นิคมฯ มาบตาพุดตรวจสอบระบบสัญญาณเตือนภัย-ระบบไฟฟ้ากรณีฉุกเฉินให้ดำเนินการผลิตได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม พร้อมแนะให้ส่งเสริมการคัดแยกขยะนำมาผลิตเป็นพลังงานชีวมวลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวบรรยายสรุปแผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียงในทุกมิติอย่างยั่งยืน ผ่านแนวทางการแก้ไขปัญหา 8 ประการ คือ 1. ลดและกำจัดมลพิษอย่างต่อเนื่อง มุ่งสู่สิ่งแวดล้อมสะอาด 2. ยกระดับสาธารณสุขให้ทันสมัยเพียงพอและเฉพาะโรค 3. ยกระดับคุณภาพการศึกษา รองรับตลาดแรงงาน 4. พัฒนาสู่อุตสาหรรมนิเวศ 5. พัฒนากิจกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มีความหลากหลาย

6. พัฒนาขีดความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐาน และจัดสรรการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม 7. ส่งเสริมการใช้ผังเมืองรวมในการพัฒนาพื้นที่ 8. สนับสนุนการบริหารจัดการแบบบูรณาการ แยกออกเป็นโครงการภายใต้แผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจร (ฉบับปรับปรุง) ประกอบด้วยแผนงาน จำนวน 99 โครงการ วงเงินงบประมาณ ปี 2555-2559 วงเงินงบประมาณรวม 6,363.14 ล้านบาท โดยมีโครงการเร่งด่วนเน้นแก้ไขปัญหามลพิษ อุบัติภัยฉุกเฉิน ขยะมูลฝอย การกัดเซาะชายฝั่ง การเจ็บป่วย การบริการสาธารณสุข และปัญหาการคมนาคมแออัด จำนวน 8 โครงการ วงเงินงบประมาณ 677.62 ล้านบาท

สำหรับแผนพัฒนาในระยะต่อไปคือ การพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยนำบทเรียนจากต่างประเทศ เมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เป็นกรอบแนวคิดในการทำเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มีจุดมุ่งหมายของเสียเป็นศูนย์ โดยนำของเสียจากอุตสาหกรรมประเภทหนึ่งมาแปรเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอีกประเภทหนึ่ง โดยยึดหลักการการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ผ่านหลักการ 3R - Reduce Reuse Recycle ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานให้คุ้มค่า มีกระบวนการจัดการขยะ จัดการของเสีย ให้เป็นวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ภายหลังจากรับฟังการบรรยายสรุป นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่มาบตาพุดวันนี้เพื่อมาติดตามการดำเนินการตามข้อสั่งการและมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 และขอบคุณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ได้ร่วมกันดำเนินการตามข้อสั่งการเกือบครบถ้วน โดยขอให้นำแผนการแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจรมารวมเป็นแผนเดียวกันและนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

สำหรับเรื่องงบประมาณการดำเนินโครงการเร่งด่วน ให้พิจารณานำงบประมาณของกระทรวงปี 57 มาจัดสรรดำเนินการก่อน ถ้าไม่เพียงพอก็ให้ใช้งบประมาณของปี 58 ส่วนข้อเสนอของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ต้องการให้เพิ่มปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นคณะกรรมการใน พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนั้น นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว พร้อมสั่งการให้ปรับปรุง พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตรวจสอบระบบสัญญาณเตือนภัยกรณีฉุกเฉิน รวมถึงระบบไฟฟ้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ให้สามารถดำเนินการผลิตต่อไปได้และไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ร่วมดูแลแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีให้ข้อคิดเห็นในเรื่องการวางระบบผังเมืองที่ให้มีการวางระบบวางท่อน้ำดี น้ำเสีย รวมถึงระบบการคัดแยกขยะ ให้สามารถนำมารีไซเคิลใช้ประโยชน์และให้ส่งเสริมนำมาผลิตเป็นพลังงานชีวมวลเพื่อใช้ในระบบอุตสาหกรรมต่อไป พร้อมกับมอบหมายให้ สศช. ศึกษาและนำโครงการการคัดแยกขยะจากโครงการร้อยมือสร้างเมืองของจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นการคัดแยกขยะแล้วนำมาแลกเปลี่ยนสินค้าโอทอปในชุมชนมาเป็นต้นแบบ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะต่อไป

นอกจากนี้ ในเรื่องการจัดเก็บค่าปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการบริหารจัดการนำเงินจากการจัดเก็บค่าปล่อยมลพิษมาจัดสรรให้กับชุมชนส่วนหนึ่งเพื่อนำไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนต่อไป

ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีรับฟังการบรรยายสรุปการประกอบกิจการของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) และการเยียวยากรณีเกิดน้ำมันรั่วและแนวทางป้องกันมิให้เกิดกรณีนี้ในอนาคต โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลฯ เร่งเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยให้ทางจังหวัดเข้าไปทำงานร่วมประกอบการตัดสินใจ พร้อมกับให้เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่น จัดทำแผนประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และให้ PTTGC จัดทำแผนลำดับขั้นตอนกรณีเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นว่าจะมีผลกระทบอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาอย่างไรให้ชัดเจน พร้อมกับให้มีการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

จากนั้น นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ได้ออกเดินทางจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ไปปฏิบัติภารกิจต่อไปที่อ่าวคุ้งกระเบน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ