สภาทนายความออกแถลงการณ์ 5 ข้อคัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ข่าวการเมือง Wednesday November 6, 2013 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ กล่าวว่า สภาทนายความได้ออกแถลงการณ์ยื่น 5 ข้อเรียกร้องกรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องจากมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง และเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดต่อหลักกฎหมายและมุ่งใช้บังคับแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจงไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญให้อำนาจในการตรากฎหมายนี้ ตรงกันข้ามเป็นการเลือกปฏิบัติให้ประโยชน์แก่บุคคลหรือคณะบุคคล ซึ่งไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมและหลักกฎหมายสากล

สำหรับ 5 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1.ในมาตรา 3 วรรคแรกของกฎหมายฉบับดังกล่าว มีการแก้ไขสาระสำคัญ ในการแปรญัตติ ซึ่งเป็นการยกเว้นทั้งคดีแพ่งและอาญา รวมไปถึงการกระทำผิดจากการคอรัปชั่นและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และสอดคล้องกับ ส.ส.ที่ขอแปรญัตติอ้างว่าได้พบกับผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ ซึ่งต้องคดีตามคำพิพากษา ถึงที่สุดในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งแสดงถึงความไม่สุจริตตั้งแต่การยกร่าง และนัดหมายให้มีการแปรญัตติ

2.การประกาศไม่ขอรับทรัพย์สินคืนของผู้ได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมายดังกล่าว เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ไม่ได้มีความสำคัญ เพราะทรัพย์สินที่คอร์รัปชั่นไปต้องตกเป็นทรัพย์ของแผ่นดินและไม่มีอายุความ ต้องเอาทรัพย์สินกลับคืนต่อแผ่นดิน และในส่วน ของคดีอาญาจากการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นการกระทำความผิดของการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย เป็นคดีที่ไม่มีอายุความ การออกกฎหมายให้หลุดพ้นการกระทำผิดเพื่อให้ได้รับทรัพย์สินคืน ถือว่าเป็นการผิดกฎหมายและผิดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

3.ในส่วนของมาตรา 7 ของกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นการขัดต่อผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งอาจขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ

4.ร่างกฎหมายนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นคำสั่งใดก็ตามที่ออกมาจากฝ่ายบริหารโดยนายกรัฐมนตรี ผู้ใต้บังคับบัญชา ล้วนเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของนายกรัฐมนตรีและญาติพี่น้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม การปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ของรัฐถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการต่อสู้เพื่อค้านกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม สามารถขอรับการช่วยเหลือจากสภาทนายความได้ทั่วประเทศ

5.ควรทำคำแปลร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อเผยแพร่ไปยังองค์กรทางนิติศาสตร์ทั่วโลก รัฐสภา ศาล และสภาวิชาชีพทางกฎหมาย เพื่อให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงของการคัดค้าน

ทั้งนี้ สภาทนายความ มีมติไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยสภาทนายความทั่วประเทศจะออกแถลงการณ์และช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศ หากถูกละเมิดสิทธิในการคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้

ส่วนกรณีการออก พ.ร.บ.ความมั่นคง เมื่อนำมาบังคับใช้กับประชาชนในการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมจากอำนาจของภาครัฐ ประชาชนสามารถเข้ามาร้องเรียนที่สภาทนายความได้ เป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ทางสภาทนายความก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือจัดทนายความคดีปกครองช่วยว่าความต่อสู้คดีให้เช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ