พร้อมยืนยันด้วยการเอาตำแหน่ง รมว.ยุติธรรมเป็นเดิมพันด้วยการลาออกจากตำแหน่งทันที หากที่ประชุมสภาฯ นำร่างกฎหมายฉบับนี้กลับเข้ามาสู่สภาฯ อีก พร้อมชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ หากพิจารณาในเนื้อหาแล้วไม่ใช่ พ.ร.บ.การเงิน ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีต้องลงนาม และไม่ใช่เป็นการล้างผิดในโครงการทุจริตของรัฐบาลที่กำลังดำเนินงานอยู่ในขณะนี้ เช่น โครงการทุจริตการรับจำนำข้าว
รมว.ยุติธรรม ย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ปฎิวัติ และผลพวงจากการปฎิวัติเท่านั้น รวมถึงการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.) มาดำเนินคดีทุจริตต่างๆ ซึ่งเป็นบุคคลที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะกิจ และเป็นกลุ่มบุคคลกับคณะปฎิวัติ ซึ่งไม่ให้ความเป็นธรรม
ทั้งนี้เห็นว่า การชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในขณะนี้ไม่มีเหตุผลที่จะยกระดับขึ้นเป็นการขับไล่รัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกฎหมายนี้ ซึ่งถ้าม็อบเห็นแก่บ้านเมืองก็ควรจะยุติการชุมนุม เพราะถือว่าได้ในสิ่งที่ต้องการแล้ว ดังนั้นหากชุมนุมอยู่ต่อไปจะถือว่าเป็นม็อบที่ไม่มีเหตุผล
นายชัยเกษม ระบุว่า เหตุที่สภาฯ เร่งรัดพิจารณา พ.ร.บ.นี้ ส่วนตัวมองว่า เป็นการต้องการเอาชนะกันในสภา แต่เมื่อทุกฝ่ายยืนยันยุติเรื่องนี้แล้ว หากจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ใหม่ อาจต้องใช้เวลาอีกนานอาจถึงขั้นหมดสมัยรัฐบาลชุดนี้ไปแล้ว พร้อมเห็นว่าการ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมนับจากนี้จะต้องมีการสอบถามความคิดเห็นประชาชนเพื่อความถูกต้องก่อน ไม่ใช่เร่งรัดเหมือนร่าง พ.ร.บ.นี้