"ถ้าทำได้เร็ว ก็พอจะตัดไฟลงไปได้บ้าง จะได้รู้ข้อสรุปให้ชัดเจน เพราะถ้าเชื่อมไปถึงวันที่ 11 พ.ย. อาจจะไปชนกับกรณีคำพิพากษาศาลโลกในคดีเขาพระวิหารอีก...ถ้าวุฒิฯ เลื่อนมาเร็วขึ้น ก็แสดงว่าเขารู้ว่ามันเป็นปัญหา ควรรีบทำ จะเอาอย่างไรก็บอกไป ว่าจะแปรญัตติ หรือจะคว่ำไปเลย" นายนายสุขุม กล่าว
พร้อมให้ความเห็นส่วนตัวว่า การได้เห็นความชัดเจนจากที่ประชุมวุฒิสภาในวันนี้ ไม่ว่าจะออกมาในแนวทางที่มีการแปรญัตติ หรือแนวทางที่ไม่รับหลักการก็ตาม น่าจะมีผลช่วยลดความร้อนแรงของกระแสการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมลงได้บ้างในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้นายสุขุมเห็นด้วยหากที่ประชุมวุฒิสภาจะใช้แนวทางการแปรญัตติร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยกลับไปใช้เนื้อหาตามร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเดิมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แต่ในความเป็นจริงเชื่อว่าที่ประชุมวุฒิสภาอาจจะไม่เลือกแนวทางนี้ เพราะจะถือเป็นการเข้าทางพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอทางออกในรูปแบบนี้ไว้ โดยคาดว่าที่ประชุมวุฒิสภาคงจะเลือกการลงมติไม่รับหลักการตามที่ได้แถลงไว้ก่อนหน้านี้
"ผมเห็นด้วยกับการแปรญัตติให้กลับไปสู่ร่างเดิม(ฉบับนายวรชัย เหมะ) แต่เชื่อว่าคงจะไม่ออกมาทางนั้น ซึ่งตอนนี้ประชาธิปัตย์ก็เสนอว่าให้เอาแบบนี้ไหม แต่ผมเชื่อว่าเพื่อไทยไม่เอา และวุฒิสภาคงทำตามที่แถลงไว้ว่าจะคว่ำ ผมเห็นด้วยกับการแปรญัตติ แต่ในแง่ของความเป็นจริง ถ้าวุฒิสภาทำแบบนั้นอาจจะถูกมองว่าเสียทีประชาธิปัตย์ และจะกลายเป็นประชาธิปัตย์ได้แต้มไป" นายสุขุม กล่าว
พร้อมมองว่า หลังได้เห็นความชัดเจนในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของสมาชิกวุฒิสภาในวันนี้แล้ว อาจจะทำให้บางกลุ่มยุติการชุมนุม โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรหรือสถาบันต่างๆ ที่นัดกันทำกิจกรรมการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมที่ราชดำเนินนั้นแรงต้านอาจจะอ่อนลงจากเดิมได้
"ต้องให้วุฒิสภาตีตกไปก่อน ถึงจะทำให้แรงต้านลดลงไปอีก...ส่วนหนึ่งคงจะยุติ เช่น สถาบันต่างๆ ที่มาแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ คงหยุด แต่บางกลุ่มคงยากเพราะเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่เป้าหมายคือการขับไล่รัฐบาลชุดปัจจุบัน เช่น กลุ่มของอุรุพงษ์ ที่ยังเดาไม่ออก แต่อาจจะอ่อนแรงลง" นายสุขุม กล่าว
อย่างไรก็ดี การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงจุดยืนของรัฐบาลอีกครั้งเมื่อวานนี้(7 พ.ย.) ที่ยอมถอยเรื่องร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น มองว่ารัฐบาลคงตั้งใจจริงที่จะทำตามนั้น เพราะรัฐบาลได้รับปากแล้วว่าถ้าที่ประชุมวุฒิสภาไม่ผ่านหลักการในวาระแรก ก็จะปล่อยให้กฎหมายนี้ตกไปโดยไม่นำกลับเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎรอีก แม้ท่าทีนี้ฝ่ายค้านจะยังไม่ไว้วางใจและยังปักหลักชุมนุมอยู่ต่อไปก็ตาม