โดยนายสุรพงษ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยติดตามการพิพากษาของศาลโลกในคดีข้อพิพาทเพื่อให้สองฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสันติสุข ซึ่งคาดหวังว่าในคดีนี้ศาลโลกก็น่าจะมีคำพิพากษาเป็นไปในทางสร้างสรรค์ แต่หากคำพิพากษาออกมาในทางลบไม่เป็นไปตามที่คาดหวังความวุ่นวายต่างๆอาจจะเกิดขึ้น และเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีและสมเด็จฮุนเซน ก็ได้พูดคุยกันว่าเราไม่อยากเห็นความแตกแยกและกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากการที่ตนได้ไปหารือกับฮอร์ นัม ฮงว่าถ้าเกิดผลของคำตัดสินออกมาในกรณีต่างๆจะเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าเป็นลบเราต้องให้เวลาซึ่งกันและกัน และภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เราต้องเคารพสิทธิและการแสดงออกแต่ละฝ่ายเพราะประเทศไทยมีมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 ที่เราจะต้องชี้แจงสอบถามความคิดเห็นประชาชนต่างๆ ด้วย
"แต่ที่ห่วงมากที่สุดคือการปลุกกระแสคลั่งชาติและไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริง...ซึ่งวันนี้ตนจึงมาเล่าปูพื้นฐานทั้งหมดให้สังคมเข้าใจว่าเหตุการณ์มันเกิดขึ้นมาต่อเนื่องทุกรัฐบาล ทุกรัฐบาลต้องรับผิดชอบร่วมกัน และขอให้คนไทยร่วมดูการถ่ายทอดสดในวันที่ 11 อย่างมีสติ และเชื่อว่าฝ่ายทหารสามารถปกป้องความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนตามแนวชายแดนได้ และเที่ยวนี้เหตุการณ์รุนแรงคงไม่เกิดขึ้นแน่นอน แม่ทัพภาค 2 ของเรานัดคุยแม่ทัพภาค 4 ของกัมพูชาแล้ว พร้อมผบ.ทบ.ที่จะไปพูดคุยด้วยกัน พี่น้องประชาชนแนวชายแดนนอนตาหลับได้ รัฐบาลพูดคุยกันได้ การเจรจาเป็นทางออกที่ดีของ 2 ประเทศ ผมเองพร้อมคุยกับท่านฮอร์นัมฮง ท่านนายกฯก็พร้อมคุยกับท่านฮุนเซน ทหารก็พร้อมที่จะคุยกัน ผมให้ความเชื่อมั่นว่าท่านจะอยู่ได้อย่างสุขสบาย ไม่ได้รับผลกระทบ"นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ เล่าวว่า ข้อพิพาทเขาพระวิหารเกิดตั้งแต่ปี 2502 กัมพูชายื่นต่อศาลโลกในคดีปราสาทเขาพระวิหาร ในที่สุดปี 2505 ศาลโลกมีคำพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารตั้งบนดินแดนภายใต้อธิปไตยกัมพูชา หมายความว่าปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา และในคำสั่งศาลให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณปราสาท เป็นคำตัดสินเมื่อ 15 มิ.ย.2505 ทันทีที่ศาลมีคำพิพากษา วันที่ 3 ก.ค. 2505 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำพิพากษาแต่ปฏิบัติตามในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ และฉบับที่ 2 ซึ่งห่าง 3 วันให้หลัง มีหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติแจ้งว่าไทยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา แต่จะปฏิบัติตามพร้อมสงวนสิทธิ์ในการทวงคืน ต่อจากนั้น ครม.ในสมัยนั้นมีมติให้ปฎิบัติตามคำพิพากษาพร้อมกำหนดขอบเขต ให้สร้างป้าย และสร้างรั้วล้อมรอบ จากนั้นประเทศไทยถอนกำลังออกจากประสาทพระวิหาร เคลื่อนเสาธงออกจากพื้นที่โดยไม่ได้นำธงชาติไทยลงจากยอดเสา นี่คือ 4 เหตุการณ์ที่ต้องเล่าให้ทราบ ซึ่งเป็น 4 เหตุการณ์ใน 1 เดือน ว่ารัฐบาลขณะนั้นได้ทำอะไรในการแสดงออก
เมื่อถามว่าหากศาลพิพากษาฯเราจะไม่ปฏิบัติตามได้หรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ที่เล่าให้ฟังว่า ขณะนั้นเราไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน แต่เราเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และในการเป็นสมาชิกฯทำให้ประเทศไทยต้องเป็นภาคีของศาลโลกโดยอัตโนมัติ ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลก็ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งขณะนี้หลายประเทศเป็นสมาชิกและบางประเทศก็พยายามเข้าไป ถ้าเราจะออกก็อาจจะเกิดความเสียหายมากกว่า ถ้าเราจะไม่รับคำพิพากษา ผมว่าคนไทยเราต้องร่วมตัดสิน และถ้าวันที่ 11 พ.ย.ออกมา เราก็ตั้งใจถามประชาชนอยู่แล้ว และตั้งใจเอาเข้าสู่สภาฯ เพราะสิ่งต่างๆไม่ได้เกิดในสมัยรัฐบาลนี้ ถ้าจะทำอะไรก็ต้องตัดสินใจร่วมกับประชาชน เพราะประเทศชาติก็เป็นของทุกคน เราก็ต้องตัดสินใจร่วมกัน
เมื่อถามถึง กรณีที่เกิดกระแสปลุกปั่นยุยงในเรื่องคดีปราสาทพระวิหารในขณะนี้ รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า หากนำข้อมูลจริงมาดำเนินการก็ไม่ว่ากัน แต่ที่ผมศึกษารายละเอียดพบว่าเอกสารบางส่วนขาดหายไป การยั่วยุของกลุ่มคนก็จะเกิดปัญหาขึ้นได้ สมัยรัฐบาลท่านสมัคร ซึ่งมีท่านนพดล ปัทมะเป็นรมว.ตปท. ก็พยายามคัดค้านขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ในที่สุดในการประชุมมรดกโลก มีมติให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาท ผมไปเจอหลักฐานว่าไม่ได้สมัยรัฐบาลสมัครที่ไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่ในสมัยท่านพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกฯ ในการประชุมฯ ไทยและกัมพูชาเห็นพ้องต้องกันในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และมีหนังสือแถลงการณ์แสดงความยินดี เป็นเอกสารที่ผมเพิ่งพบเจอ และเป็นเอกสารลับมาก เป็นเอกสารที่รมว.ตปท.ขณะนั้นทำถึงท่านสุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อ 9 ก.ค. 2550 ระบุว่าที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกมีฉันทามติเกี่ยวกับการที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยขั้นตอนการขึ้นทะเบียอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งไทยและกัมพูชาตกลงอย่างเข้มแข็งในการทำแผนอนุรักษ์และบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน และในหนังสือฉบับนี้ ยังได้เขียนว่าฝ่ายไทยได้ออกแถลงข่าวแสดงความยินดีต่อประเทศและประชาชนกัมพูชา พร้อมแสดงเจตนาอย่างมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ และบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันต่อไป
ประเด็นขณะนั้น กัมพูชาต้องการให้พื้นที่รอบข้างด้วยในการขึ้นทะเบียน พอมาสมัยท่านสมัครเข้ามาปี 2551 ไทยพยายามรักษาสิทธิทางเขตแดนจึงประท้วงและคำขอขึ้นทะเบียนของกัมพูชา จนกัมพูชาปรับคำขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ มีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 32 ในสมัยรัฐบาลสมัคร ข้อมูลในช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์หายไป หลักฐานที่กระทรวงการต่างประเทศเตรียมมาข้ามประเด็นตรงนี้ไป สังคมก็ไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริง พวกกลุ่มที่ปลุกระดมคน คือพันธมิตรก็ปลุกระดมคนให้ประท้วง ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วรัฐบาลสมัครไม่ได้ทำความผิดแล้ว แต่ทำประโยชน์ด้วยซ้ำ แต่เมื่อมันเกิดไปแล้ว ตอนนี้ยังมีคนนำประเด็นเหล่านี้มาเพื่อที่จะเป็นประเด็นทางการเมือง ผมเลยขออนุญาตท่านนายกฯนำข้อมูลมาเปิดเผย เพราะผมไม่อยากเห็นสังคมเกิดความขัดแย้ง แตกแยก ถ้าเหตุการณ์ทุกอย่างเป็นข้อเท็จจริงแล้วประชาชนไม่คล้อยตาม กลุ่มยั่วยุก็ไม่สามารถทำสำเร็จ
"เหตุการณ์ทั้งหมดหลังมีการประท้วงของกลุ่มพันธมิตร สมัยรัฐบาลสมัคร มาถึงสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เกิดเหตุปะทะตามแนวชายแดน และช่วงสุดท้ายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็เกิดการปะทะอย่างรุนแรง ที่สุดกัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความปราสาทพระวิหารและขอให้ศาลโลกออกคำสั่งมาตรการชั่วคราวขึ้นมา ท่านฮอร์ นัม ฮงก็พูดชัดเจนว่าเหตุผลที่นำเรื่องนี้ไปขึ้นศาลโลกเพราะตอนนั้นเกิดการปะทะรุนแรง ไม่อยากเห็นการปะทะ ถ้ารัฐบาลคุยกันได้ก็ไม่อยากนำขึ้นศาลโลกเลย ขณะที่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งคณะกรรมการสู้คดีและอนุมัติงบประมาณ 129ล้านบาท ไปสู้คดี ขึ้นศาลครั้งแรก 30-31 พ.ค. ในขณะนั้น แต่ขณะนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้มีการถ่ายทอดสด คนก็ไม่รู้ว่ามีคดี โชคดีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามา ผมมานั่งรมว.ตปท. ผมมาดูข้อมูล รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ตัดสินใจให้มีการถ่ายทอดสด ขณะที่ผมยังถูกกล่าวหาว่าผมบีบบังคับไม่ให้สู้คดีเต็มที่ แต่จะเห็นว่าวันสุดท้ายท่านทูตวีรชัยขออนุญาตให้คำกล่าวที่รุนแรงในการสู้คดี ท่านมาขออนุญาตผม ผมก็บอกว่าในเรื่องคดีก็ต้องเอาเต็มที่ แต่เมื่อคดีสิ้นสุด เราค่อยมาตกลงกัน เจรจากัน"นายสุรพงษ์ กล่าว