ส่วนการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของหลายกลุ่มนั้น ทางแกนนำพันธมิตรฯ เห็นว่าเป็นการคัดค้านเพียงด้านเดียว ไม่ได้แก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด เพราะปัญหาการเมืองจำเป็นต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่
"เราขอให้กำลังใจกลุ่มพี่น้องประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อการการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่ เพราะถือว่าทุกท่านที่ออกมานั้นแม้จะมีเป้าหมายต่างกัน ยุทธวิธีต่างกัน แต่ประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่างก็มีความเสียสละและรักชาติบ้านเมืองเหมือนกัน และถือว่าทุกท่านที่ออกมาเคลื่อนไหวนั้น ต่างเสียสละมาทำหน้าที่ ใช้หนี้แผ่นดิน และมาทำบุญกันทั้งสิ้น" พล.ต.จำลอง ระบุในแถลงการณ์
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ที่ตื่นและลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวยังคงจำกัดขอบเขตของการเคลื่อนไหวครั้งนี้อยู่เพียงแค่การคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเท่านั้น การคัดค้านปัญหารายประเด็นเรื่องนี้มีแนวร่วมของมวลประชาชนเป็นจำนวนมากมายมหาศาลที่มีความสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่ต้องอาศัยการกลับมาเคลื่อนไหวของอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีก
แต่ความจริงแล้ว ปัญหาวิกฤติของประเทศชาติไม่ได้มีเพียงแค่ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเท่านั้น เพราะยังมีวิกฤติชาติอีกหลายประเด็นภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้ และเมื่อประชาชนคัดค้านการกระทำความผิดของรัฐบาลเรื่องหนึ่ง รัฐบาลก็จะไปกระทำความผิดเรื่องเลวร้ายวิกฤติของชาติในเรื่องอื่นๆต่อไปได้อีก และประเทศชาติก็ยังมีปัญหาอีกมากภายใต้ระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ดังนั้นลำพังการเคลื่อนไหวเพียงแค่คัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียวย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติของชาติได้ และการขับไล่รัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลลาออกหรือยุบสภาภายใต้ระบบการเมืองเช่นนี้ก็ยังแก้ไขปัญหาของประเทศไม่ได้อย่างแท้จริงเช่นกัน จึงมีเพียงการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปประเทศรอบด้านครั้งใหญ่เท่านั้นที่จะยุติวิกฤติของประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน
"แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้มีพัฒนาการของการชุมนุมหลายเวทีซึ่งเริ่มมีการปราศรัยในเรื่องปฏิรูปประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าอาจมีโอกาสที่สถานการณ์ถึงพร้อมที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศในวันข้างหน้าได้ หากทุกฝ่ายได้ร่วมมือร่วมใจในการกำหนดเป้าหมาย ผลักดัน และเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ให้เป็นเอกภาพในเวลาอันใกล้นี้"
พล.ต.จำลอง กล่าวว่า สำหรับในวันนี้วันที่ 11 พ.ย.56 เป็นวันสำคัญที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะได้มีการตัดสินการตีความคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี พ.ศ. 2505 แม้จะไม่ใช่เป็นเรื่องการปฏิรูปประเทศ แต่ก็เป็นปัญหาอีกประเด็นหนึ่งที่กำลังจะเป็นวิกฤติของชาติอันใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากได้สมรู้ร่วมคิด รู้เห็นเป็นใจลงมติในวาระที่ 3 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เมื่อวันที่ 4 พ.ย.56 ให้รัฐบาลสามารถทำสัญญาระหว่างประเทศและยกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอธิปไตยให้ต่างชาติได้โดยสามารถปกปิดให้ประชาชนไม่ต้องรับรู้ ก่อนที่จะมีการตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ถือได้ว่าเป็นเจตนาที่ไม่โปร่งใสและมีพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจอย่างยิ่ง
"คุณสนธิ ได้แจ้งมาโดยตลอดว่าหากผมออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องใดก็จะออกมาเคลื่อนไหวร่วมด้วยอย่างถึงที่สุด รวมถึงเรื่องนี้ แม้จะเป็นพันธะสัญญาใจในฐานะกัลยาณมิตรที่มีต่อกันมานานแล้ว แต่เห็นว่ายังมีความจำเป็นทางกลยุทธ์ที่ต้องมีหนทางสำรองเอาไว้ในยามวิกฤติเพื่อบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปประเทศไทยอย่างแท้จริง จึงได้ขอร้องให้คุณสนธิ ยังไม่ต้องออกมาเคลื่อนไหวขึ้นเวทีในเวลานี้เพื่อประโยชน์ทางยุทธวิธี คุณสนธิ จึงได้รับปากและมอบหมายให้สื่อในเครือเอเอสทีวี ดำเนินการสนับสนุนการเคลื่อนไหวให้กับผมและคณะในเรื่องนี้อย่างเต็มกำลัง"พล.ต.จำลอง กล่าว