ขณะเดียวกันในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมการศึกษารายละเอียดคำพิพากษา ซึ่งมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เป็นประธานคณะทำงานและคณะแปลคำพิพากษาเป็นภาษาไทยอย่างละเอียด รวมทัเงจะระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการและประชาชน
"ยืนยันคำพิพากษาในขณะนี้ว่า ไม่สามารถระบุได้ว่าไทยเสียดินแดน แต่เป็นชัยชนะของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนบริเวณชายทั้งสองประเทศ สามารถใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข ส่วนเทคนิครายละเอียดที่ศาลให้ไปเจรจาร่วมกันนั้น จะนัดนายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีว่าหารกระทรวงการต่างประเทศในเร็วๆนี้ ซึ่งอาจเป็นการประชุมที่ปอยเปต"นายสุรพงษ์ กล่าว
ด้านตัวแทนกลุ่ม 40 ส.ว.นำโดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่คณะรัฐมนตรีเสนอเพื่อขอความเห็นกรณีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร เนื่องจากเห็นว่ากรณีดังกล่าวต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มาตรา 190 เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตยและดินแดนของไทย ไม่ใช่เพียงแค่นำเข้ารายงานต่อที่ประชุมเท่านั้น
ทั้งนี้ เห็นว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ยังไม่ควรรีบสรุปหรือปฏิบัติการใดๆตามคำตัดสินของโลก เพราะเห็นว่าคำตัดสินยังไม่มีความชัดเจนและมีเงื่อนงำ โดยในคำตัดสิน ปี 2505 ได้ให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา และให้ไทยถอนกำลังทหาร แต่มาปีนี้ คำตัดสินได้ให้พื้นที่ข้างเคียงอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชาด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้กัมพูชาสามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้อย่าสมบูรณ์และมีรัฐบาลไทยให้ความร่วมมือ