ในด้านเศรษฐกิจวันนี้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างไทยและภูฏาน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มพูนมูลค่าการค้าระหว่างกัน โดยเมื่อปี 2012 การค้าระหว่างไทยและภูฏานมีมูลค่า 15.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านการลงทุนนายกรัฐมนตรีขอให้ภูฏานให้ข้อมูลเกี่ยวกับด้านการลงทุนในภูฏานแก่ภาคเอกชนไทย เพื่อแสวงหาการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค และธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีภูฏานได้ขอบคุณธุรกิจไทยที่เริ่มไปลงทุนในภูฏานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจบริการท่องเที่ยว นอกจากนี้อยากเห็นการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวไทยไปยังภูฏานมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีเพียง 3,600 คนเท่านั้น ขณะที่ชาวภูฏานเดินทางมาไทยถึงปีละ 22,000 คนเพื่อพักผ่อน บริการทางการแพทย์ ซื้อหาสินค้า ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีประชากรเพียง 700,000 คน
ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นายกรัฐมนตรีภูฏานแสดงความขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือด้านวิชาการ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แก่ภูฏานในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ การศึกษา สุขภาพ วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ การจัดการ การท่องเที่ยว คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยี โดยนายกรัฐมนตรีภูฏานขอให้ไทยจัดทุนการศึกษาให้กับชาวภูฏานเพื่อให้การให้การฝึกอบรมนักบินแก่ภูฏานด้วย
ด้านความร่วมมือทางการเกษตร ไทยและภูฏานได้ลงนามความตกลงความร่วมมือทางการเกษตรเมื่อปี 2011 และมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีหวังเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการเกษตร การประมงและ ปศุสัตว์ โดยให้มีการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน
ส่วนความร่วมมือในระดับภูมิภาค นายกรัฐมนตรียินดีที่ภูฏานมีบทบาทสำคัญในเวทีความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ(BIMSTEC) โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรม ทั้งนี้ไทยหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากภูฏาน ในการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA กับ BIMSTEC
นอกจากนี้ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือ ACD ครั้งที่ 2 ในเดือนมีนาคม 2015 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ความสำคัญต่อประเด็นการสร้างความเชื่อมโยงของภูมิภาค ซึ่งไทยพร้อมต้อนรับนายกรัฐมนตรีภูฏานในการร่วมประชุมดังกล่าวด้วย