ด้วยเหตุนี้การชุมนุมประท้วงของพี่น้องประชาชนจึงยังคงดำเนินต่อไป เพราะแท้จริงแล้วพี่น้องประชาชนไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล เพราะขาดภาวะผู้นำ ขาดความรับผิดชอบ ไม่มีประสิทธิภาพ การบริหารงานของรัฐบาลได้ก่อปัญหาต่างๆ มากมาย อาทิ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาการกู้หนี้สาธารณะ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และการทุจริตมโหฬารในโครงการจำนำข้าว เป็นต้น ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายของสังคมไทยที่สิ้นสุดความอดทนที่มีต่อรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ฯ
โดยมูลเหตุของปัญหาดังกล่าวอยู่ที่ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา" โดยนายทุนที่ขาดจริยธรรมอาศัยเครื่องมือ "ประชาธิปไตย" เป็นช่องทางเข้าแสวงหาอำนาจ
"สรุปวิเคราะห์ได้ว่าปัญหาต่างๆ ของประเทศชาติในปัจจุบันล้วนเป็นผลโดยตรงจากการที่ประเทศไทยมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งแต่ไม่เป็นประชาธิปไตย ระบบการเมืองแท้จริงของไทย คือ "ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา" หากสภาพการณ์ยังคงดำรงเช่นนี้ จะทำให้ความขัดแย้งในสังคมจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ประชาชนทุกหมู่เหล่าจะทนทุกข์ และประเทศไทยมีแต่จะอ่อนแอล้าหลังพัฒนาไม่ทันประเทศเพื่อนบ้าน ต้องใช้เวลาอีกนานในการฟื้นกลับ"
อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาอันหนักหน่วงของชาติดังกล่าว คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จึงเสนอให้พลังของสังคมไทยทุกภาคส่วนร่วมชูธง “ปฎิรูปประเทศไทย" โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้ เป้าหมายการปฏิรูป:เปลี่ยนประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อสร้างประเทศไทยสู่ "สังคมที่เป็นธรรม ประชาชนมีความมั่นคง และเป็นสุข"
เนื้อหาการปฎิรูป:สร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสำคัญเร่งด่วน 4 ด้าน ได้แก่ 1) ปฎิรูปการเมือง โดยเปลี่ยนแปลงระบบรัฐสภาให้เป็นองค์กรตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน สนองเจตนารมณ์ของประชาชน และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเผด็จการรัฐสภาแทนทุนสามานย์ที่มุ่งการถนทุนคืนให้หวนกลับมาอีก 2) ปฎิรูประบบเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมกลไกตลาดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี ปราศจากอิทธิพลแทรกแซงจากภาครัฐ เศรษฐกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและวิสาหกิจชุมชนได้รับการสนับสนุน ปฎิรูประบบการพลังงาน แรงงาน เกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน 3) ปฎิรูปสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเท่าเทียม ลดความเลื่อมล้ำ ได้แก่ ระบบการศึกษา ระบบการสาธารณสุข และระบบสวัสดิการ 4) ปฎิรูประบบราชการและความยุติธรรม โดยเน้นความเป็นนิติรัฐ ส่งเสริมระบบราชการโดยระบบคุณธรรม ทำลายการทุจริตคอร์รัปชั่นให้หมดไป ส่งเสริมข้าราชการทำงานเพื่อแผ่นดินโดยปราศจากการครอบงำจากฝ่ายการเมือง ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ประชาชนและท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ
ด้านกระบวนการปฎิรูป:ให้มีองค์กรทำหน้าที่ประสานเป็นกระบวนการ ได้แก่ "สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ" "คณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศ" และ "คณะกรรมการปฏิรูปเฉพาะเรื่อง" โดยกำหนดให้มีระยะเวลาในการปฏิรูปให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นหลักประกันต่อประชาชน
คณาจารย์มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษามีความเชื่อมั่นว่ามวลมหาประชาชนคือพลังสร้างสรรค์สูงสุด หากประชาชนขับเคลื่อนชูธงแห่งการปฏิรูปประเทศ ภารกิจดังกล่าวย่อมจะบรรลุเจตนารมณ์ในการสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็น "สังคมที่เป็นธรรม ประชาชนมีความมั่นคง และเป็นสุข"