นายนพดล กล่าวว่า คำตัดสินได้ทำให้ความจริงปรากฏดังนี้ 1. คำตัดสินยืนยันชัดเจนว่าตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชามา 51 ปีแล้วตามที่ศาลโลกตัดสินในปี 2505 ไม่ได้เสียอะไรเพิ่ม 2. ปี 2549 ช่วงรัฐบาล คมช. กัมพูชายื่นเอาตัวปราสาทพระวิหาร บวกพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก 3. ปี 2551 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่ตนเป็น รมว.ต่างประเทศคัดค้านและบังคับให้กัมพูชาตัดพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ออก และห้ามไม่ให้นำไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกโดยกัมพูชาต้องยื่นแผนผังตัวปราสาทใหม่แทนแผนที่ที่รุกล้ำพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ที่ยื่นไว้ จนสามารถขึ้นทะเบียนได้เฉพาะตัวปราสาทซึ่งมีพื้นที่เล็กกว่าเส้นรั้วลวดหนามตามเส้นมติ ครม. เสียอีก โดยไม่รวมพื้นที่ทับซ้อน ตามที่ระบุใน ข้อ 9 ของมติคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 32 (7 ก.ค. 2551)
4. คำตัดสินศาลโลกครั้งนี้ ระบุไว้ชัดเจนว่ากัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้เฉพาะตัวปราสาท และไม่รวมพื้นที่พิพาทไทย-กัมพูชา (พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.) ตามย่อหน้า 27 ของคำตัดสินศาลโลก 5.คณะทนายความผู้ต่อสู้คดี รวมถึงศาสตราจารย์ เปลเล่ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระดับโลก ที่มีนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก เป็นหัวหน้า ต้องการใช้คำแถลงการณ์ร่วมในการต่อสู้คดี
6.สรุปว่า คำตัดสินของศาลโลก ได้พิสูจน์อย่างชัดเจนว่า คำแถลงการณ์ร่วมไม่ได้ทำให้ไทยเสียดินแดนใดๆ แต่ได้ช่วยปกป้องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ไม่ให้ตกเป็นของกัมพูชา 7.อโหสิกรรมนักการเมืองกลุ่มที่ใส่ร้ายตนมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา 8.คำพิพากษาศาลโลกจะทำให้การบิดเบือนใส่ร้ายทำได้ยากขึ้นเพราะประชาชนเข้าใจว่าฝ่ายใดทำอะไรไว้ และ 9.ฝ่ายต่าง ๆ ควรหยุดวิจารณ์คำตัดสินศาลโลกเพื่อหวังผลทางการเมืองได้แล้ว แต่ควรให้ข้าราชการมืออาชีพทำงาน เลิกสร้างปัญหา แต่ควรร่วมมือแก้ปัญหา