ขณะที่นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำเครือข่ายฯ กล่าวว่า ขอให้ ส.ส., ส.ว.และประชาชนจากทุกภาคส่วนมาร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ จากนั้นเวลา 23.00 น.ของวันที่ 23 พ.ย.นี้จะลงมติ ซึ่งจะมีแนวทางสอดคล้องกับการประกาศยกระดับของเวทีประชาชนที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำฯ ในวันที่ 24 พ.ย.
ด้าน ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ผู้ประสานงานกองทัพธรรม กล่าวว่า ประเด็นที่ภาคประชาชนจะเปิดอภิปรายจะมีหลักฐาน มีข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับการทุจริต ความเดือดร้อนที่ไม่ได้รับการแก้ไขหรือการออกกฎหมายบางฉบับ ส่วนการรวมตัวของผู้ชุมนมทั้ง 3 กลุ่มยืนยันว่า จะไม่มีการยุบเวทีรวมกัน แต่ทั้ง 3 เวที ทางแกนนำได้หารือร่วมกันมาต่อเนื่อง แต่ขึ้นอยู่กับแนวทางของแกนนำแต่ละเวทีในการเคลื่อนไหว
ส่วนนายอุทัย ยอดมณี ผู้ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) แถลงว่า การชุมนุมของ คปท.ยืนยันแนวทางมาตลอดว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง ส่วนกรณีที่กลุ่มอาชีวะที่ออกย้ายออกจากพื้นที่ชุมนุมม คปท.นั้นได้มีการทำความเข้าใจว่ายังมีแนวทางเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน แต่เนื่องจากเวทีที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของกลุ่มนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศรวมตัววันที่ 24 พ.ย.ทางกลุ่มอาชีวะจึงได้แจ้งว่าจะขอไปร่วมด้วย
ส่วนกรณีที่กลุ่มสมาชิกรัฐสภา 312 ส.ส. และ ส.ว.ได้ออกมาร่วมกันแสดงจุดยืนปฏิเสธและไม่ยอมรับอำนาจการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว.นั้น นายอุทัย กล่าวว่า เป็นการกระทำที่ต้องการกดดันศาลรัฐธรรมนูญให้มีการตัดสินใจลำบากขึ้น ทั้งที่คำพิพากษายังไม่ได้ออกมาเป็นที่รับทราบโดยทั่วกันของประชาชน ดังนั้นในฐานะที่ ส.ส. และ ส.ว. เป็นตัวแทนของประชาชนแล้วออกมาแถลงในลักษณะดังกล่าว แสดงว่า ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงพรรคเพื่อไทยรู้แล้วว่าคำวินิจฉัยจะต้องออกมาเป็นผลลบใช่หรือไม่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองว่า ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. 312 คน จะมีความชอบธรรม ในการจะมานั่งทำหน้าที่ในสภาได้ต่อไปหรือไม่
อย่างไรก็ตาม แกนนำนักศึกษา และที่ปรึกษา คปท.จะมีการหารือกันอีกครั้งในวันพรุ่งนี้หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว