ทั้งนี้ ร.ท.หญิง สุณิสา ระบุว่า นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้แจ้งให้ที่ประชุม ค.ร.ม ทราบถึงสาเหตุที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรยังไม่บรรจุญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า เป็นเพราะมีปัญหาถกเถียงกันเรื่องความไม่สมบูรณ์ของญัตติที่เสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า หากเป็นการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ โดยไม่มีการกล่าวหาเรื่องทุจริตหรือไม่ได้อ้างถึงพฤติการณ์ฝ่าฝืนกฎหมาย พรรคฝ่ายค้านก็สามารถยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้เลย แต่หากมีการกล่าวหาเรื่องการทุจริตหรือการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดให้ พรรคฝ่ายค้านต้องยื่นถอดถอนบุคคลในคณะรัฐมนตรี ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ก่อน โดยให้ยื่นถอดถอนผ่านประธานวุฒิสภา
แต่ปัญหาในขณะนี้ คือ พรรคฝ่ายค้านปฏิเสธที่จะยื่นสำเนาคำร้องถอดถอนดังกล่าวแนบมาในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรกำหนดไว้ เพื่อป้องกันปัญหาการอภิปรายเกินกรอบของประเด็นที่ได้ยื่นคำร้องถอดถอนต่อ ป.ป.ช ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต จนทำให้มีการขอยื่นถอดถอนผู้ที่อภิปรายนอกประเด็นดังกล่าว จนตัวผู้อภิปรายต้องเป็นฝ่ายขอถอนคำอภิปรายในสภาฯ ทั้งหมดมาแล้ว ทำให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงวินิจฉัยว่าผู้เสนอญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องส่งคำร้องถอดถอนมายังประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย
โดยหลังจากนี้หากกระบวนการบรรจุญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ คาดว่าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ ในช่วงสัปดาห์หน้า และการอภิปรายจะต้องสิ้นสุดภายในเที่ยงคืน ของวันที่ 27 พ.ย 56 เพราะการลงมติจะกระทำได้อย่างช้าที่สุด คือ วันที่ 28 พ.ย เนื่องจากจะมีการปิดประชุมสภาสมัยสามัญ ในวันที่ 29 พ.ย 56
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีไม่ได้แสดงท่าทีกังวลใด ๆ ต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่อาจมีขึ้น โดยนายกฯ กล่าวกับคณะรัฐมนตรี ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ขณะนี้รอเพียงการนัดหมายวันเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ อย่างเป็นทางการจากสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น หากได้รับแจ้งกำหนดการเมื่อไหร่ ก็พร้อมชี้แจงทันที